xs
xsm
sm
md
lg

คาด "เด็กเกิดใหม่" ปีนี้ต่ำกว่า 5 แสนคน วัยแรงงานไม่พอทดแทนเป็นปีแรก ชง รบ.เน้นครอบครัวพร้อมมีลูกอย่างน้อย 2 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ห่วงเด็กเกิดใหม่ยังลดต่ำลง คาดปีนี้ต่ำกว่า 5 แสนคน เป็นปีที่แรกที่วัยแรงงาน 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยคนออกจากวัยแรงงานได้ เสนอให้ รบ.ลงทุนเพิ่มเกิดที่มีคุณภาพ กำหนดนโยบายด้านประชากร เน้นครอบครัวที่มีความพร้อม มีลูกไม่น้อยกว่า 2 คน แบบสมัครใจ มีการวางแผน ช่วยเหลือคู่ที่มีบุตรยากให้เข้าถึงบริการเร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 11 ก.ค. ของทุกปี ถูกกำหนดเป็นวันประชากรโลก (World Population Day) เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นปัญหาของประชากรโลก ซึ่งปี 2566 ไทยประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ใปี 2565 ลดลงเหลือ 502,107 คน และอาจจะต่ำกว่า 5 แสนคน ในปี 2566 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอีกกว่า 120 ประเทศ ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยปี 2564 ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ ร้อยละ 30 ทำให้ปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงานอายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้

“แม้กรมอนามัยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 อย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนการเกิดยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในระยะครึ่งแผนหลัง จึงได้เสนอมาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหา อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี การเพิ่มสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ มาตรการ work from home ยืดหยุ่นเวลางาน ลาคลอด 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง สิทธิการรักษาและสิทธิการลาเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก การใช้ AI เข้ามาทดแทนมนุษย์ในสาขาที่มีความขาดแคลน การเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้น การส่งเสริมการออมสำหรับการเกษียณ และการส่งเสริมการสร้างอาชีพรอง เพื่อเพิ่มรายได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนการเกิดอาจต้องมองในหลายมิติเพิ่มเติม การเพิ่มจำนวนการเกิดจากผู้ที่มีความพร้อมหรือจากคนไทยเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทันต่อการรับมือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อ GDP และความมั่นคงของประเทศ การให้ความสำคัญกับทุกการเกิดในประเทศ หรือการนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รับมือกับปัญหาได้เร็วกว่า ไม่ว่าจะเลือกมาตรการใดเป็นมาตรการหลัก รัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยข้อเสนอดังกล่าวได้นำมากำหนดเป็นมาตรการทางเลือกให้กับรัฐบาลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น