โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ติดตามการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว วางแนวทางแก้ปัญหาให้แรงงานอยู่ต่อ และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หากยื่นเอกสารไม่ทัน แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเศรษฐกิจ
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครอง ดูแลสิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. แรงงานต่างด้าว MOU 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และ เมียนมา) ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี และ 2. แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) ซึ่งไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ให้สามารถอยู่ต่อและทำงานเป็นการชั่วคราวได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยแนวทางการจัดการดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสารได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังต้องการแรงงานเพื่อดำเนินกิจการในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการจัดการดังกล่าวของรัฐบาลได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นกระแสขอบคุณการทำงานของรัฐบาลที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที มีมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศ ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวกว่า 3-4 แสนคน ที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทัน รวมถึงเป็นการทำงานที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคแรงงาน รวมถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลให้การดูแล วางแนวทางเชิงรุกแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง และเร่งด่วน เพื่อรองรับการฟื้นตัวโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า มาตรการที่สอดคล้องของรัฐบาลจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการและแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ภาคธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบ ซึ่งการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแบบแผนของรัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหา ดูแลแรงงานได้อย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายอนุชา กล่าว