กรมวิทย์ เผยโควิด XBB.1.16 ยังเป็นตัวหลักในไทย ส่วน XBB.2.3 อนามัยโลกประกาศต้องติดตาม ทั่วโลกพบ 7.6 พันราย ไทยเจอแล้ว 60 ราย ตำแหน่งกลายพันธุ์เหมือนเดลตา หลบภูมิดี แต่ยังไม่พบก่อโรครุนแรง ย้ำ ATK ยังใช้ตรวจได้ทุกสายพันธุ์
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยพบสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแทนที่สายพันธุ์ BN.1* ที่เคยเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ข้อมูลจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ตั้งแต่เริ่มพบสายพันธุ์ XBB.1.16 เมื่อ เม.ย.2566 ปัจจุบัน XBB.1.16* เป็นสายพันธุ์ที่พบสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 30.34% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9* คิดเป็น 26.59% และสายพันธุ์ XBB.1.5* คิดเป็น 20.96%
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 29 พ.ค. - 4 มิ.ย. 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 185 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 169 ราย คิดเป็น 91.35% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้สามอันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16* XBB.1.9.1* และ XBB.1.5* คิดเป็น 35.68%, 20.00 % และ 11.35% ตามลำดับ
ส่วนสายพันธุ์ XBB.2.3* องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (VUMs) เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอมิครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 ที่กลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม S:T478K เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความได้เปรียบในการเติบโตแพร่ระบาด พบรายงานจาก 54 ประเทศทั่วโลก จำนวน 7,664 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566) สำหรับประเทศไทยพบแล้ว 60 ราย รายงานครั้งแรกในช่วง มี.ค. 2566 ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าสายพันธุ์ดังกล่าวส่งผลต่อความรุนแรงของโรค
“แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมเป็นสายพันธุ์หลักกระจายทุกเขตสุขภาพ การตรวจด้วย ATK และ Rt PCR ยังสามารถใช้ ตรวจครอบคลุมทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ลูกผสม ขอประชาชนดูแลตัวเอง ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อป้องกันตนเอง ลดความรุนแรงของโรค” นพ.ศุภกิจ กล่าว