กรมวิทย์แจงจับตา "FU.1" แพร่เร็ว แต่ไม่พบรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากคนถอดมาสก์ มีกิจกรรมมาก กรมควบคุมโรคห่วงคนภูมิตก ต้องเร่งฉีดกระตุ้น เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงช่วยลดป่วยหนัก-ดับ
เมื่อวันที่ 18 พ.ค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตาม “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16 ซึ่งเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบแล้ว 1 คน ว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ รายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโลก หรือ GISAID ซึ่งกรมฯ มีการติดตามและสุ่มตรวจถอดรหัสสายพันธ์ุอยู่ต่อเนื่อง เท่าที่ติดตามแม้จะมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรค จนส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมาก
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดเร็วอาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมมากของผู้คนที่มากขึ้น คนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เนื่องจากบางคนเห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่อยากให้กังวล เพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธ์ุ ไปหลายสายพันธ์ุจำนวนมาก กรมยังติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดกำลังขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น คนถอดหน้ากาก มีกิจกรรมกันมากมาย ภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง เพราะฉีดวัคซีนมานาน หลายคนฉีดวัคซีนเกิน 1 ปีหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม ดังนั้น ยังจำเป็นมีมาตรการ อาทิ 1. ต้องการให้คนทุกคนมีภูมิคุ้มกันเรียกว่าสูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะเป็นโอมิครอนที่ทำให้มีอาการน้อยก็ตาม แต่หากภูมิคุ้มกันน้อย และเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อภูมิคุ้มกันไม่พอก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว จึงต้องรณรงค์ต่อเนื่องให้กลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ LAAB
2.กรณีกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อขอให้รีบไปพบแพทย์ ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาให้ทัน และ 3.เฝ้าระวังต่อเนื่อง ในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นคลัสเตอร์หรือกลุ่มต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดูแลร่วมกัน หากมีคลัสเตอร์หรือกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์ อย่างกรณีชาวต่างชาติได้ร่วมกับ รพ.เอกชนส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน สำหรับตอนนี้โควิดยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ ซึ่งเราก็ติดตามต่อเนื่อง