xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่ง "ภูเก็ต" เปิดศูนย์ฉุกเฉินรับมือ "อุจจาระร่วง" ระบาดหนัก ยัน รพ.ยังรับไหวหลังผู้ป่วยล้น ส่ง "น้ำแข็ง-น้ำใช้" ตรวจหาเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.สั่ง "ภูเก็ต" เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน หลังพบผู้ป่วยอุจจาระร่วงจำนวนมากจนล้น รพ. เผยผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง รพ.มีศักยภาพรองรับ เก็บตัวอย่างน้ำแข็ง น้ำใช้ ส่งตรวจแล้ว รอข้อมูลสอบสวนโรค ก่อนออกมาตรการปิดจุดเสี่ยง พร้อมเข้มบังคับใช้กฎหมายสุขาภิบาล

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการระบาดของโรคอุจจาระร่วงใน จ.ภูเก็ต ส่งผลให้เมื่อคืนมีผู้ป่วยจำนวนมากแห่เข้ารักษาใน รพ. ว่า ได้รับทราบสถานการณ์แล้วว่า มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ได้ให้ตรวจสอบข้อมูลและดูข้อมูลทางระบาดวิทยาให้ชัดเจนว่าจุดที่เป็นปัญหาคือจุดไหน กลุ่มไหนอย่างไร เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ก็ประมาณการณ์ว่าอาจมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข จึงได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ภูเก็ต เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพราะมาตรการคงทำทุกระบบควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมายเรื่องสุขาภิบาล ห้องน้ำ ความสะอาด เรื่องอาหารต่างๆ ต้องใช้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเรื่องการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ แม้โรคอุจจาระร่วงดูเหมือนจะไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่ถ้าเกิดมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขที่ใหญ่โตมากขึ้น


ถามว่าเมื่อคืนผู้ป่วยมาจำนวนมากจนล้น รพ. ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง นพ.โอภาสกล่าวว่า กำลังประเมินสถานการณ์ เท่าที่ดูผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการไม่ได้รุนแรงมากนัก ยังรับมือไหว คงต้องไปประเมินข้อมูลระบาดวิทยาอีกทีว่า จุดต้นกไเนิดหรือที่ต้องปิดจุดอ่อนของสุขาภิบาลอยู่ตรงไหน ยืนยันว่า รพ.ยังมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งรายละเอียดต้องรอเอาข้อมูลมาประมวลและออกมาตรการต่างๆ ตามมา ขณะนี้เปิดศูนย์อีโอซีเรียบร้อยแล้ว

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า นพ.สสจ.ภูเก็ตได้ส่งทีมควบคุมโรคออกสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 (สคร.) นครศรีธรรมาช พบมีผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 6-8 มิ.ย. 2566 เข้ารับบริการใน รพ.ภาครัฐแต่ละแห่ง เฉลี่ย 50 ราย/วัน รพ.เอกชนเฉลี่ย 100 ราย/วัน กระจายหลายกลุ่มอายุ หลายพื้นที่ทั้ง อ.เมือง กะทู้ ถลาง รวมทั้งพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้า รพ.มีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ แต่ไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งประวัติอาหารและความเชื่อมโยง จึงมีการเก็บตัวอย่างจากน้ำแข็ง น้ำใช้ อาเจียนและอุจจาระผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล


นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สสจ.ภูเก็ตยังส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยสถานที่ผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ต.วิชิตและ ต.ฉลอง เพื่อตรวจสอบกระบวนการฆ่าเชื้อและการควบคุมกระบวนการผลิต กวดขันผู้ประกอบการเกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีของพนักงานในกระบวนการผลิต ควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการขนส่งน้ำแข็ง เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ และเฝ้าระวังมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ทั้งร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดนัด และอาหารริมบาทวิถี ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งสกปรก กรณีที่ป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

ส่วนสถานศึกษาให้เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียนเพื่อฆ่าเชื้อก่อโรค ขณะเดียวกันได้กำชับ รพ.ทุกแห่ง เตรียมยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย รวมทั้งมอบหมายให้ อสม. เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน สสจ.ภูเก็ตได้เปิดศูนย์อีโอซีโรคอุจจาระร่วง วางแผนการควบคุมการระบาดร่วมกับกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรคจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินมาตรฐานและเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานน้ำดื่ม น้ำแข็ง และตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่พบผู้ป่วยเพื่อค้นหานักเรียนที่ป่วยเพิ่มเติม รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ อาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการก่อโรค












กำลังโหลดความคิดเห็น