เด็กสาวหน้าตายิ้มแย้ม พาเดินชมพื้นที่เพาะปลูกของ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” ด้วยท่าทางคล่องแคล่ว อธิบายเรื่องราวทางการเกษตรต่าง ๆ ได้อย่างฉะฉาน ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำด้วยตนเอง ทำให้เรื่องราวที่เธอถ่ายทอดชวนฟังไม่รู้เบื่อ สะท้อนภาพความเป็น Young Smart Farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่แสบสมชื่อ ได้อย่างชัดเจน
“กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์” หรือ “น้องแสบ” เกษตรกรสาวรุ่นใหม่ ในฐานะเจ้าของไร่แสงสกุลรุ่งเป็นศิษย์เก่าคณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่ได้รับทุนการศึกษาจากซีพี ออลล์ ในระหว่างการศึกษา หลังสำเร็จการศึกษาในปี 2560 น้องแสบได้เข้ามาสานต่ออาชีพเกษตรกรของครอบครัวบนพื้นที่ 15 ไร่ ในจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากพืชผักและไม้ผลที่ปลูกแซมผสมผสานกันอยู่ในไร่เต็มพื้นที่แล้ว ไร่แสงสกุลรุ่งยังเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยง “ผำ” พืชน้ำที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ที่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือนในชุมชนด้วย
กินได้ ขายได้ เลี้ยงเองได้
“จุดเริ่มต้นของการเพาะเลี้ยงผำเกิดจากมีชาวบ้านมาขอช้อนผำที่ขึ้นอยู่ตามร่องน้ำในสวนของเรา ครั้งแรกเขามาช้อนแล้วนำไปทำเป็นอาหารในครอบครัว ครั้งที่สองมาขอช้อนอีก แต่ครั้งนี้เขาช้อนแล้วนำไปใส่ถุงขายซึ่งก็มีชาวบ้านซื้อไปประกอบอาหาร ทำให้เรารู้ว่าผำเป็นพืชที่คนในชุมชนโดยทั่วไปรู้ว่านำไปทำอาหารกินได้ และเป็นพืชที่สร้างรายได้ เราก็เลยไปช้อนมาเองบ้างเพราะคิดว่าแทนที่จะปล่อยให้ผำโตตามธรรมชาติ เราเอาไปเลี้ยงและจำหน่ายดีกว่า แต่ติดที่เรายังไม่รู้ธรรมชาติการเติบโตของผำ จึงนำไปส่งห้องทดลองเพื่อศึกษาและจำลองการเลี้ยงผำในห้องทดลอง ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนการศึกษาทดลองทางวิชาการจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(PIM) และหน่วยงานของรัฐทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีและสำนักงานประมงจังหวัดกาญจนบุรี จนสามารถนำผำมาเลี้ยงในท่อวงหรือกะละมัง เพื่อสร้างผลผลิตนำออกจำหน่ายได้” น้องแสบเล่าจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงผำด้วยความภาคภูมิใจ
หลังสามารถเลี้ยงผำสร้างผลผลิตได้แล้ว น้องแสบนำผำออกจำหน่ายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความรู้ที่ได้จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(PIM) มาบริหารจัดการเรื่องการขาย ทั้งการแบ่งขายในจำนวนน้อยเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น หรือการใช้ใบตองซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมาเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสวยงาม รวมถึงการคิดต่อยอดการผลิตพืชน้ำชนิดนี้ให้กับเกษตรกรในชุมชนเพื่อให้เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อนำออกไปจำหน่ายนอกชุมชน และแปรรูปสร้างความแตกต่างในตลาด เพิ่มมูลค่าและยอดขายให้สูงขึ้น
พืชน้ำมากคุณค่าบนจานอาหาร
“ผำเป็นพืชน้ำที่มีโปรตีนสูง หากเราบริโภคผำที่ได้จากธรรมชาติปริมาณ 100 กรัม จะได้โปรตีนเทียบเท่าไข่ไก่ 1-2 ฟอง แต่หากเป็นผำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะให้คุณค่าโปรตีนสูงเทียบเท่าไข่ไก่ 10-12 ฟอง เพราะเราใช้น้ำหมักและจุลินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง และเมื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารคุณค่าทางอาหารยิ่งสูงขึ้น จึงได้แปรรูปเป็นขนมจีนน้ำยาผำออกขายเป็นชุด แต่ผำเป็นพืชน้ำที่เป็นของสด จึงไม่สามารถเก็บได้นาน เราจึงนำมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบที่เก็บได้นานกว่า โจ๊กผำมัทฉะ เครื่องดื่มผำ สบู่ล้างหน้าจากผำ และผงผำมัจฉะที่ใช้ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่มออกจำหน่าย โดยทำการตลาดทางสื่อออนไลน์และออกจำหน่ายในชุมชน”
น้องแสบบอกเล่าความสำเร็จของผำต่อไปว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านในชุมชนร่วมเป็นเครือข่ายเกษตรกรกว่า 20 หลังคาเรือนที่มาปลูกผำขายด้วยกัน โดยทางไร่แสงสกุลรุ่งจะให้พันธุ์ผำพร้อมน้ำหมักปลาซึ่งเป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงผำแก่เกษตรกรเครือข่าย และเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงและการเก็บผลผลิต และรับซื้อผำกลับคืนจากเกตรกรเครือข่ายเหล่านี้ โดยผำต้นพันธุ์ 1 กิโลกรัมจะสามารถเลี้ยงได้ 2 ท่อวง (ท่อวงละครึ่งกิโลกรัม) ใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อเติบโตเต็มที่เกษตรกรจะสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4-5 กิโลกรัม และจำหน่ายคืนให้ไร่แสงสกุลรุ่งในราคากิโลกรัมละ 60 บาท
“เรารับซื้อจากเกษตรกรในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากต้นพันธุ์และอาหารของผำ เราเป็นผู้จัดการให้กับเครือข่าย และเรานำออกไปจำหน่ายในราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรได้ 60 บาท ส่วนเราได้กำไรจากส่วนต่างหลังหักต้นทุนเรื่องการทำการตลาด บรรจุภัณฑ์ และการขนส่งที่ต้องขนส่งโดยรถแช่เย็น ทำให้ทั้งไร่แสงสกุลรุ่งและเกษตรกรเครือข่ายต่างได้ประโยชน์ไปด้วยกัน โดยปัจจุบันมียอดขายทางออนไลน์เฉลี่ย 10-20 กิโลกรัม และมียอดสั่งซื้อจาก ปตท. 100-200 กิโลกรัมต่อ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ผลผลิตที่เก็บได้มากน้อยขึ้นกับสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งทาง ปตท.นำไปทำผงผำมัจฉะเป็นวัสดุดิบสำหรับปรุงเมนูเครื่องดื่มของ ปตท. และในอนาคตเชื่อว่าน่าจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น”
ฝันดัน “ผำ” สร้างพลังซอฟท์ พาวเวอร์ให้อาหารไทย
นอกจากจากการเปิดไร่เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ความรู้เกษตรกรร่วมเป็นเครือข่าย น้องแสบยังเปิดพื้นที่การเกษตรของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงาน และส่งต่อความรู้ให้กับน้อง ๆ เด็กนักเรียนเป็นหลักสูตรเลี้ยงสาหร่ายผำของโรงเรียนบ้านทุ่งมะขามเฒ่าในชุมชน โดยนักเรียนชั้น ป.3-4 จะเรียนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงผำ ส่วนเด็กชั้น ป.5-6 จะเรียนรู้เรื่องการแปรรูปและนำออกจำหน่าย เป็นอาชีพให้กับน้อง ๆ ได้ต่อไป
จาก “ผู้รับ” สู่ “ผู้ให้” ผลสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจากโอกาสที่ได้รับสู่การเป็นผู้ให้ส่งต่อสู่ชุมชนบ้านเกิดของน้องแสบ ทำให้ในปี 2566 น้องแสบได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 ตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรไทยกับประเทศญี่ปุ่น (Young Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“รู้สึกดีใจมาก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า และให้ความสนใจเรื่องผำเป็นอย่างมาก ดังนั้นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ต่อยอดและสร้างโอกาสในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงผำของชุมชนบ้านทุ่งมะขามเฒ่า หนูวางแผนที่จะเพาะเลี้ยงผำเพื่อส่งออก และวางแพลนว่าอยากให้ผำเป็นพืชมหัศจรรย์ที่คุณค่าทางอาหารเป็นซอฟท์ พาวเวอร์อาหารพื้นบ้านของไทย ทำให้คนรู้จักทั่วโลก กลายเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง และมีลูกค้าประจำที่พร้อมซื้ออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศชาติด้วย”
ซีพี ออลล์ หนุนสร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาส
ด้าน นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ มีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ให้โอกาสกับเยาวชน ได้รับการศึกษาที่ดีและมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ มีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยในปี 2548 ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมขึ้นมา 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและด้านวิชาชีพในระดับ ปวช., ปวส. รวมถึงก่อตั้งศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์อีกกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ Internet broadcasting for Classrooms และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า Work-based Education ให้โอกาสเยาวชนได้ต่อยอดทางการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก
“ซีพี ออลล์ เห็นความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษา สร้างโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีการดำเนินงานและการสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและการเรียนรู้มาโดยตลอด ซึ่ง น.ส.กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความฝันและลงมือทำจนสำเร็จ ที่สำคัญยังส่งต่อความรู้ ความสำเร็จ ถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองค้นคว้าให้กับเด็กๆและคนชุมชนได้นำไปต่อยอดสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน นับเป็นความภูมิใจของ ซีพี ออลล์ ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศ ตามปณิธานองค์กรของซีพี ออลล์ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับในปี 2566 ทางบริษัทฯ ได้มอบทุนการศึกษาหลายประเภท รวมแล้วกว่า 39,000 ทุน เป็นเงินมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท เพื่อร่วมพัฒนาโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” ของซีพี ออลล์