xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เดินหน้าขยายผลสอบสวนผู้กระทำผิด พร้อมเตรียมปิดช่องการทุจริตด้วยเทคโนโลยีเก็บข้อมูลและลดการใช้ดุลพินิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (7 เม.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน คือระดับ ผอ.สำนัก และ ผอ.เขต ได้เน้นย้ำในเรื่องความโปร่งใส ซึ่งปัญหาเรื่องความโปร่งใสภายในสำนักงานเขต ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายโยธา และฝ่ายรายได้ ได้กำชับไปทาง ผอ.เขต ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ เพราะคนที่ไม่ดีมีจำนวนไม่มาก ฉะนั้นหน้าที่เราคือกรองคนไม่ดีออกไป ซึ่งทางกทม.มีนโยบายชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต

เคสเขตราชเทวีเป็นเคสที่ 3 ที่มีกรณีทุจริตเกิดขึ้น และได้มีการลงโทษขั้นรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ราชเทวีคนดังกล่าวเราได้ทำการโยกย้ายมาไว้ที่แก้มลิงและสั่งพักงาน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีปัญหามาไว้ที่แก้มลิงก็เพื่อให้ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวที่ครองอยู่สามารถโยกย้ายคนมาแทนได้ หากเราไปพักงานเลยตำแหน่งดังกล่าวจะไม่สามารถมีผู้มาทำงานแทนได้ และขอยืนยันว่าเราเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะผู้บริหารชุดนี้ เราไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างเต็มที่

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องเจ้าหน้าที่ทุจริตนี้เป็นเรื่องที่เราทราบข้อมูลในพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่มาก่อน แล้วได้รายงานให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทราบ แต่เราไม่มีหน้าที่ในการจับกุม สืบสวน จึงได้มีการประสานงานกับ บก.ปปป. (กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ) ปรึกษาหารือในเรื่องรูปแบบการกระทำผิด การทุจริต และร่วมวางแผนในการที่จะดำเนินการ ขณะเดียวกันได้มีการจัดทำเวิร์กชอปให้ทางเจ้าหน้าที่กทม. ได้รับทราบและตระหนักถึงพฤติกรรมเหล่านี้

สำหรับขณะนั้น เราทราบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ทำทุจริตแต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของชื่อตัวบุคคลและรายละเอียดของแผนประทุษกรรม จึงให้ทางตำรวจ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) บก.ปปป. (กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ) ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ดำเนินการไปก่อน โดยกทม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะ หลังจากที่มีการจับกุมแล้วก็เตรียมการขยายผลต่อไป

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ต่อไปจะเป็นการสืบสวน ขยายผล ซึ่งตำรวจกำลังดำเนินการ และทางกรุงเทพมหานครก็ให้ความร่วมมือทุกด้าน ขณะเดียวกัน ทางกทม.เองก็ต้องมีการป้องกันการทุจริตในระยะยาวต่อไป ซึ่งมี 2 ขั้นตอน คือ 1. ลดการใช้วิจารณญาณของฝ่ายต่าง ๆ ลง โดยเฉพาะฝ่ายรายได้ ซึ่งวิธีที่ทำได้ดีที่สุดคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ข้อมูลการเสียภาษีที่ดิน อาคาร ป้าย ถ้าสามารถทำให้เป็นดิจิทัล นำขึ้นเป็นฐานข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบว่าที่ดินแต่ละแปลง ป้ายแต่ละป้ายจ่ายเท่าไร ก็จะทำให้กระบวนการการใช้วิจารณญาณที่อาจทำให้เกิดการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะลดน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะแต่ก่อนภาษีโรงเรือนคิดตามการประเมินรายได้ แต่พอเราเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะคิดตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์และราคาประเมินอาคารซึ่งค่อนข้างตรงไปตรงมา

2. ให้มีฝ่ายตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสิทธิไปช่วยดูกระบวนการการจัดเก็บเงิน เพื่อลดการใช้วิจารณญาณโดยคนใดคนหนึ่ง และมีคนเข้าไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มั่นใจในกระบวนการมากขึ้น ส่วนกระบวนการอื่น เช่น การขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือการขอใบอนุญาตต่าง ๆ หลักการคือการทำให้เป็นออนไลน์มากขึ้น ลดการเจอกันระหว่างผู้ให้ใบอนุญาตกับประชาชน และสิ่งที่กำลังทดลองทำคือมีคณะกรรมการพิจารณาการขอใบอนุญาตและให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำให้เกิดความรอบคอบแล้วก็โปร่งใสมากขึ้น

ด้านภาพรวมของการจัดเก็บภาษี ตอนนี้เป็นนโยบายที่เราจะต้องเพิ่มรายได้ให้เต็ม 100% เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระหว่างภาษีโรงเรือนเดิมกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนเดิมให้ระยะเวลา 10 ปีในการเก็บ โดยต้องไปไล่เก็บให้ครบถ้วน ปัจจุบันเราเอาข้อมูลเข้าฐานข้อมูลไปประมาณ 95% อนาคตต้องเข้าให้ได้ 100% จะเห็นได้ว่าภาษีรายได้น้อยลงโดยเฉพาะเขตชั้นใน เช่น เขตราชเทวี เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยลงเพราะไม่ค่อยมีที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนรายได้มาจากภาษีโรงเรือน เช่น ห้างสรรพสินค้า โดยคิดจากค่ารายปีของทรัพย์สินในอัตรา 12.5% ของค่ารายปี แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นภาษีที่ดิน จะไม่ได้เก็บจากรายได้ แต่เก็บจากราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งบางครั้งสิ่งปลูกสร้างมีค่าเสื่อม ก็ได้เฉพาะราคาที่ดิน และหากพื้นที่ไม่เยอะก็ทำให้รายได้ลดลง เรื่องนี้ก็เป็นนโยบายว่าต้องไปเก็บภาษีทั้งหมดอย่างเป็นธรรม ส่วนในอดีตเก็บครบหรือไม่ครบก็ต้องไปดำเนินการติดตามย้อนหลัง และจากนี้เป็นต้นไปก็ต้องพยายามเก็บให้ครบ

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้ว สำนักงานเขต กับกองรายได้ต้องมีการประเมินตรวจสอบ จากนั้นสำนักงานเขตจึงจะสามารถประเมินย้อนหลังเองได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เขตไม่มั่นใจในการตรวจสอบ สามารถส่งให้คณะกรรมการของกรุงเทพมหานครพิจารณาได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะมีผู้ตรวจราชการเข้าร่วมตรวจสอบด้วย ทำให้ข้อมูลตรงนี้ต่อไปในอนาคตจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่ามีอาคาร ที่ดินตรงไหนบ้างที่ยังไม่มีการประเมิน เมื่อทราบแล้วจะสามารถเร่งรัดให้สำนักงานเขตเข้าไปดำเนินการจัดเก็บภาษีได้ 


ติดตามความคืบหน้านโยบาย พร้อมชื่นชม ผอ.เขต ที่หันหน้าเข้าหาประชาชน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่า วันนี้เป็นการคุยกันเพื่ออัปเดตสถานการณ์ว่าเรามีอะไรที่คืบหน้าไปบ้าง อาทิ เรื่อง Traffy Fondue ที่ ผอ.เขต ได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยมีเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา 257,101 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้น 187,480 เรื่อง คิดเป็น 73% (ข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย. 66 เวลา 14.00 น.) Traffy Fondue ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ความเดือดร้อนประชาชนอยู่ที่ไหน แล้วก็สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งระบบจะมีการให้คะแนนความพึงพอใจ (Rating) โดยมีคนให้ 5 ดาว ถึง 44,000 เคส ที่ให้ 1 ดาว มี 13,439 เคส เราต้องนำข้อมูลพวกนี้ไปปรับปรุงทั้งหมด ถ้าระดับความพึงพอใจไม่ดี (1 ดาว) ต้องชี้แจง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนจากผู้ว่าฯ เป็นศูนย์กลาง เป็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นมิติใหม่ของการทำราชการ ที่ผ่านมาเชื่อว่าเราไม่เคยฟังประชาชนมากขนาดนี้ แต่ปัจจุบันนี้ทุกเขตเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยหันหน้าเข้าหาประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้พูดตั้งแต่ต้นว่าเราเน้นเรื่องเส้นเลือดฝอย ปรับปรุงชีวิตคนในระดับเส้นเลือดฝอยให้ดีก่อน ต้องขอขอบคุณท่าน ผอ.เขตทุกคน ที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย

สำหรับเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างดับ จากการสำรวจไฟฟ้าที่กรุงเทพมหานครดูแลทั้งหมด 145,314 ดวง มีไฟดับอยู่ 24,846 ดวง ซ่อมไปแล้ว 24,448 ดวง ยังดับอยู่อีก 398 ดวง เป็นเรื่องที่ให้ติดตามอยู่ตลอด จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ สว่างขึ้น แต่ยังเหลือที่เราต้องเปลี่ยนเป็น LED อีกประมาณ 25,000 ดวง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยเริ่มดำเนินการที่ถนนเส้นหลักหลายเส้นแล้ว เป็นเรื่องที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน

เรื่องสวน 15 นาที เรามีเป้าหมาย 124 แห่ง พื้นที่รวม 676 ไร่ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 21 แห่ง เริ่มดำเนินการปรับปรุงแล้ว 50 แห่ง อยู่ระหว่างปรับพื้นที่และออกแบบ 33 แห่ง อยู่ระหว่างขอใช้ที่ดิน 21 แห่ง ถือว่าก้าวหน้ามากกว่าที่คาดไว้ โดยในปีนี้เรามีเป้าหมายอยู่ 56 แห่ง คาดว่าน่าจะเสร็จได้เกินเป้าหมาย และภายใน 4 ปี ก็น่าจะเกินเป้าหมาย 124 แห่งเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวและออกกำลังกายได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไกลมาที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี หรือสวนเบญจกิติ

เรื่องต้นไม้ล้านต้น ปลูกแล้ว 317,181 ต้น เป็นไม้ยืนต้น 69,789 ต้น ไม้พุ่ม 176,643 ต้น ไม้เลื้อย 70,749 ต้น ถือว่าเกินเป้าหมาย เพราะ 1 ปี เราตั้งเป้า 250,000 ต้น อย่างไรก็ตาม ต้องปรับโดยเพิ่มไม้ยืนต้นให้มากขึ้น เชื่อว่าภายใน 4 ปี จะปลูกได้เกินล้านต้นอย่างแน่นอน

เรื่องถนนสวย เป้าหมาย 1 เขต 1 เส้น ให้มีการปลูกต้นไม้และทำให้มีความสวยงาม ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 57 เส้น (ครบทั้ง 50 เขต) ความยาวรวม 151,726 เมตร ได้ให้ทุกเขตดำเนินการต่อเนื่อง

 


กระจายงบลงเขต ลุยแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เรามีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นงบสะสมจ่ายขาดโดยผ่านสภากรุงเทพมหานครต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา วงเงินงบประมาณเพิ่มเติม 9,732.488 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 57 หน่วยรับงบประมาณ รวม 572 รายการ ซึ่งได้มีการกระจายงบประมาณลงเขตจำนวนมาก เกือบ 3 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ถนน ระบบระบายน้ำที่มีปัญหา แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ซี่งเป็นการตอบโจทย์สำหรับประชาชนอย่างแท้จริงและจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 210 วัน ส่วนงบประมาณปี 2567 กำลังดำเนินการ 


 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสวนชูวิทย์ ดำเนินการตามระเบียบ ยุติธรรมกับทุกคน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องต่อมาเป็นเรื่อง “สวนชูวิทย์” ที่มีคนถามมา ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน หากพื้นที่ดังกล่าวมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินสาธารณะตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการ ส่วนในกรุงเทพมหานครให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งได้ตั้งผู้อำนวยการเขตเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการมีอำนาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ หากมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมการ ก็อาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์ไปที่มหาดไทย ซึ่งเราดำเนินการตามระเบียบที่ชัดเจน เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งใคร หน้าที่เราคือให้ความยุติธรรมกับทุกคนให้มากที่สุด

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร ทางบริษัทที่จะเป็นเจ้าของที่คือบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์ สตาร์ จำกัด ได้มายื่นเรื่องรื้อถอนอาคารที่สำนักงานเขตคลองเตย ซึ่งทางผู้อำนวยการเขตได้อนุญาตเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่อยู่ในพื้นที่เดิม ไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาท

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ และต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะมีคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ในเรื่องของการก่อสร้างอาคาร เราได้มีหนังสือแจ้งแล้วว่าการก่อสร้างเป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอง หากมีอะไรที่ผิดพลาดไปเราก็รับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ ส่วนการจะไปยุติใบอนุญาต ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเขาทำผิดกฎหมาย ก็ยังดำเนินการไม่ได้ ต้องให้กระบวนการตามระเบียบสิ้นสุดลงก่อน


 เปิดตัวแอปพลิเคชัน Nicemap รวมทุกสถานที่จัดงานไว้เพียงปลายนิ้ว

งานสงกรานต์ปีนี้ กทม.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยได้ร่วมกับ MIT Urban Risk Lab และ Collective Resilience Network Thailand จัดทำแอปพลิเคชัน Nicemap.info รวบรวมสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 198 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครไว้ในแอปฯ เดียว ซึ่งจะแสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้ filter เลือกย่าน/ประเภทกิจกรรมที่ชอบ/ระดับความต้องการเปียกในการเล่นสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง และกระจายไปเล่นน้ำแบบไม่แออัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และง่ายต่อการเดินทางสัญจรในช่วงเทศกาลด้วย 


  พบกับ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ยกงานวัดมาจัดที่ลานคนเมือง

ในส่วนของเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพฯ จัดโดยกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12 -14 เมษายน 2566 ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์ลานคนเมือง” ซึ่งเป็น 1 ในจุดสำคัญที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานสงกรานต์กรุงเทพฯ ที่เน้นกิจกรรมตามประเพณีไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยมีแนวคิดการจัดงาน คือ “สรงน้ำพระ ประพรมน้ำมนต์ เสริมสิริมงคล รับปีใหม่ไทย”

รูปแบบงานเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จำลองบรรยากาศของงานวัด มีการสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด ลานก่อเจดีย์ทราย การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงโขน ลิเก ดนตรีไทย เครื่องเล่นและการละเล่นไทย เช่น ชิงช้าสวรรค์ มวยทะเล มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร เป็นต้น โดยในส่วนของเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจะเริ่มระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น.

ภายในงานจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์และตำนานนางสงกรานต์ นิทรรศการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารไทย การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์และของดี 50 เขต รวมถึงอาหารอร่อยจากร้านอาหารขึ้นชื่อในพื้นที่กรุงเทพฯ

 


 ร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ทำบุญตักบาตร รับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีสวดพระปริตรรามัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ไทย

สำหรับกิจกรรมเด่นภายในงานที่ลานคนเมือง ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ โดยในวันที่ 12 เมษายน เวลา 08.00 น. จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จอดขบวนแห่เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระที่สวนสันติชัยปราการ ด้านหน้าวัดชนะสงคราม และบริเวณปากคลองตลาด จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ มณฑปชั่วคราวบริเวณลานคนเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน และจะอัญเชิญกลับมายังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวันที่ 14 เมษายน เวลา 16.00 น.

ทั้งนี้ วันที่ 13 เมษายน เวลา 07.00 น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 66 รูป ณ ปะรำพิธีสงฆ์ และเวลา 08.30 น. จะมีพิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้สูงวัย ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์ขึ้นเป็นครั้งแรกในการจัดเทศกาลมหาสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร โดยพิธีสวดพระปริตรรามัญเสกน้ำพระพุทธมนต์เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่โบราณกาลตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นิมนต์พระสงฆ์มอญที่มีตำแหน่งเป็นพระครูปริตรรามัญ (ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงที่วัดชนะสงครามเท่านั้น) มาสวดด้วยรามัญวิธี พร้อมเสกน้ำพระพุทธมนต์ในคราวเดียวกัน และจะมีการนำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพิธีดังกล่าว จำนวน 9,999 ชุด มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณลานคนเมือง เพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย

 


 แวะสนุกอีกจุดที่ “คลองผดุงกรุงเกษม”

นอกจากงานสงกรานต์ลานคนเมืองแล้ว กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์ @คลองผดุง (คน) กรุงเกษม” ที่จะมาเปิดพื้นที่ริมคลองให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคน ร่วมชอปสินค้า ชิมอาหาร ชมการแสดง ตั้งแต่วันที่ 8 - 15 เมษายน เวลา 15.00 - 20.00 น. ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนลูกหลวง ฝั่งข้างสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยสามารถจอดรถบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนลูกหลวง ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ หรือเดินทางด้วยรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder ที่กรุงเทพมหานครนำมาให้บริการตลอดช่วงเทศกาล

  


จัด BMA Feeder บริการรับส่งนักท่องเที่ยวและประชาชน ฟรี

โดยกรุงเทพมหานครได้จัดรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder (20 ที่นั่ง รองรับผู้พิการ 2 ที่) สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8 - 16 เมษายน 2566 เวลา 16.00 - 20.00 น. จอดรับ-ส่ง ในเส้นทาง ลานคนเมือง 》คลองผดุงฯ 》ถนนข้าวสาร ความถี่อยู่ที่ 20-30 นาที/คัน โดยได้จัดทำป้ายจอด 11 จุด ได้แก่ 1-ลานคนเมือง(เสาชิงช้า) 2-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(ถนนข้าวสาร) 3-สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตดุสิต(คุรุสภา) 4-ท่าเรือราชดำเนินนอก(มัฆวาน) 5-ท่าเรือนครสวรรค์(ตลาดนางเลิ้ง) 6-ท่าเรือหลานหลวง(โบ๊เบ๊) 7-ท่าเรือกระทรวงพลังงาน (รพ.หัวเฉียว) 8-ท่าเรือยศเส(เทพศิรินทร์) 9-สงกรานต์คลองผดุงฯ เขตป้อมปราบฯ(สายปัญญา) 10-ท่าเรือนพวงศ์(การรถไฟฯ) 11-ท่าเรือหัวลำโพง(สถานีรถไฟกรุงเทพฯ) เพื่อลดปัญหาจราจรและหลีกเลี่ยงการนำรถจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่จัดงานหลัก โดยจะให้บริการฟรี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะงดให้บริการเดินทางด้วยเรือในคลองผดุงกรุงเกษม 

กทม.ผนึกกำลังตำรวจ ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง และให้ทุกสำนักงานเขตประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น ให้มีศูนย์ CCTV ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อจำกัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณที่พื้นที่รองรับได้ พร้อมทั้งดูแลไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางหลัก ๆ บริเวณพื้นที่จัดงานอย่างทั่วถึง

รวมทั้งได้มีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน ดังนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลความปลอดภัยจากอัคคีภัย ประจำสถานีดับเพลิงหลัก 41 แห่ง สถานีดับเพลิงย่อย 7 แห่ง และประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย 37 จุด รวมทั้งสิ้น 85 จุด เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมขอความร่วมมือสำนักงานเขตดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพลิงไหม้หญ้าและขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพมหานคร

สำนักการแพทย์ ให้เตรียมพร้อมจัดบริการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ น้ำมันเชื้อเพลิง สำรองเตียง เลือด ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสนับสนุนทีมด้านการแพทย์ในสถานที่ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ และทีมอาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนในจุดให้บริการประชาชนตามเส้นทางขาออกจากกรุงเทพมหานคร ในส่วนของศูนย์เอราวัณ มีหน้าที่รับแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 และสั่งการรถปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ออกให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งภาวะปกติและสาธารณภัย รวมถึงรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2566

สำนักอนามัย ให้มีการร่วมมือกับชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ รณรงค์และดำเนินการตามมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” อย่างเคร่งครัด จัดหน่วยเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ณ อาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 10 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 13 - 17 เม.ย. เวลา 08.00 - 16.00 น. จัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาลและเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำจุดศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 จุด (เส้นทางเข้าออกเมือง 7 สถานีขนส่ง 4 จุด) ตั้งแต่วันที่ 11 - 17 เมษายน เวลา 08.00 - 16.00 น. หรือปรับเวลาตามความเหมาะสม ตลอดจนจัดทีมปฐมพยาบาล ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเครื่อง AED รถพยาบาลและเวชภัณฑ์ รับผิดชอบปฏิบัติงานประจำเต็นท์กองอำนวยการ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 12 เมษายน เวลา 10.00 - 22.00 น. วันที่ 13 เมษายน เวลา 06.00 - 22.00 น. และวันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00 - 22.00 น.

อนึ่ง ผู้ร่วมแถลงข่าวในวันนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ไอคอนสยาม สมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร เซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ De Moon Bangkok Water Festival 2023 ฯลฯ 


กำลังโหลดความคิดเห็น