ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร เล็งใช้ ISO 37001 สกัด ‘ติดสินบน’ คนแห่ให้เบาะแส 70 ราย ผ่านทาง Traffy Fondue รวมถึงเข้ามาแจ้งด้วยตนเอง และส่งหนังสือเข้ามา
(7 เม.ย.66) เวลา 15.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการ ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองปลัดฯ เฉลิมพล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้ทรุงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้นโยบายไว้คือเรื่องการต่อต้านการทุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ส่งไม่ส่วย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการทุจริตเข้ามาประมาณ 70 ราย ผ่านทาง Traffy Fondue รวมถึงเข้ามาแจ้งด้วยตนเอง และส่งหนังสือเข้ามา ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ตรวจสอบว่ามีการเกี่ยวข้องประมาณ 20 ราย โดยได้มีการลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีอาญาไปแล้วบางส่วนประมาณ 4 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน ฝ่ายรายได้เขตสวนหลวง ส่วนล่าสุดเป็นหัวหน้าฝ่ายรายได้เขตราชเทวี ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเป็นตัวอย่าง โดยปลัดกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และได้ย้ายมาเข้าแก้มลิง 20 ตำแหน่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทำไว้ที่สำนักงาน ก.ก. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้เซ็นคำสั่งให้พักราชการ จากนั้นจะดำเนินการสอบสวน หากเรื่องยืดเยื้อก็จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผลการสอบสวนประมาณ 120 วัน สามารถขยายได้ไม่เกิน 180 วัน ส่วนทางคดีอาญาเป็นของกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) อยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณา
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร ที่เราตั้งขึ้นมาได้รับความไว้วางใจ มีการร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง อยู่ใน ป.ป.ช. 2 เรื่อง ป.ป.ท. 1 เรื่อง ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ขณะนี้อยู่ในการทำแผนลงสืบ อีกไม่นานคงจะเป็นข่าวใหญ่ ทั้งนี้ในบางส่วนกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการเองได้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 คณะ ไม่ว่าจะเป็นคณะด้านโยธา คณะด้านเทศกิจ คณะด้านวัฒนธรรม คณะด้านการศึกษา ได้ลงพื้นที่ออกตรวจในเชิงรุก ล่าสุดจะมีคณะด้านพัฒนาสังคม เพื่อเป็นการป้องปรามที่จะต้องมีงบประมาณลงไปตามชุมชนต่างๆ
“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้ใช้ ISO 37001 ซึ่งจะเป็นระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน เพื่อดำเนินการในเรื่องการทุจริต มีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมประเมิน ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ที่เดียวคือ ปตท. ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะเริ่มจากสำนักที่สำคัญๆ ก่อน เช่น สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตชั้นใน สำนักงานเขตขั้นนอก เพื่อเป็นตัวอย่างทำให้เป็นมาตรฐาน โดยให้คนภายนอกเข้ามาประเมินด้วย ในช่วงแรกจะเป็นการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานก่อน จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในปีต่อไป” รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวในตอนท้าย