xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์"ชูวิทย์-ษิทรา"แฉกันยับ "หากข้าชั่ว เอ็งก็เลว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหากาพย์การแฉของสังคมไทยตอนนี้ เลี่ยงไม่พ้น"ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์"กับ"ษิทรา เบี้ยบังเกิด"เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ในประเด็นที่ทนายตั้มเปิดว่าชูวิทย์รับสินบน 6 ล้านบาทจากสารวัตรซัวที่พัวพันบ่อนพนันออนไลน์ และต่อมาชูวิทย์แฉทนายตั้มว่าเสนอใบเสนอราคาเรียกรับเงิน 3 แสนบาทจากลูกความเป็น "ค่าแถลงข่าว"

จนตอนนี้เครดิตของทั้งสองฝ่ายจากสายตาสังคมนั้นพูดตรง ๆ ลดลงไปหลายดีกรีเพราะข้อมูลที่สังคมได้รับจากสองฝ่ายนั้นคล้ายว่า "หากข้าชั่ว เอ็งก็เลว"

ดังนั้นเกมนี้น่าจะล่อกันอีกหลายยกระหว่างเจ้าของฉายาจอมแฉ-ทนายตั้มที่แต่ละฝ่ายน่าจะพาดพิงกับใครหลายคนบนหลากวงการที่มีส่วนสนับสนุนแต่ละฝ่ายทั้งบนดิน-ใต้ดิน

เพราะเคสถล่มจอมแฉเมืองไทยครั้งล่าสุดที่มีทนายตั้มและศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนั้น ชูวิทย์เชื่อว่าทนายตั้มกับเจ้าของฉายา "นักร้องเมืองไทย" รับงานใครบางคนมาร่วมวงถล่มที่ช่วงที่ชูวิทย์เปิดศึกกับพรรคภูมิใจไทยในตอนนี้

เพราะศรีสุวรรณเคลื่อนไหวไม่กี่วันก่อน หลังจากที่สังคมอสังหาริมทรัพย์จับจังหวะเมื่อต้นไตรมาสที่สามของปี 2565 ไว้ว่า "10th Avenue" มิกซ์ยูสของเครือ "DAVIS CORPORATION" กำลังปรับพื้นที่รื้อถอนสวนชูวิทย์บริเวณสุขุมวิทซอย 10 เพื่อเดินหน้า แลนด์มาร์คทางธุรกิจแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ

ศรีสุวรรณอธิบายเหตุผลที่ไปยื่นต่อผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า
"สืบเนื่องจากเมื่อ 22 พ.ค. 2548 ชูวิทย์ จัดแถลงข่าวครั้งแรก ระหว่างการต่อสู้คดีรื้อบาร์เบียร์ในศาล เพื่อแสดงความตั้งใจว่าไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ อยู่ติดกับสุขุมวิท ซอย 10 และจะนำที่ดินคืนสาธารณะให้สังคมโดยจัดทำเป็นสวนสาธารณะ

วันที่ 24 ธ.ค. 2548 ชูวิทย์แถลงข่าวเปิดตัวสวนชูวิทย์และกล่าวในวันนั้นว่า เจตนาที่จะเสียสละนำที่ดินดังกล่าวสร้างเป็นสวนสาธารณะให้กรุงเทพมหานคร ให้เป็นปอดของคน กทม. ได้ใช้ประโยชน์แทนโครงการสร้างโรงแรม

ในคดีรื้อบาร์เบียร์นั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ ม.ค. 2559 ว่าที่ดินพิพาทบริเวณสุขุมวิทซอย 10 นั้นศาลฎีกาเห็นว่าหลังเกิดเหตุ ชูวิทย์กับพวก ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปบางส่วนแล้ว และยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปราณี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

แต่ปัจจุบัน สวนดังกล่าวไม่มีแล้ว เพราะถูกนำไปพัฒนาเป็นอาคารสูงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ อันเป็นที่สงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมกันอย่างมากว่า การอุทิศที่ดินของชูวิทย์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยมิได้นำไปจดทะเบียนนั้น จะถือได้ว่าที่ดินกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 โดยไม่จำเป็นต้องนำไปจดทะเบียนการให้ต่อเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 อันมีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากมีผลสมบูรณ์แล้ว เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย......"

ศรีสุวรรณระบุว่า “หากผู้ว่าฯ วินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามกฎหมายแล้ว กทม. ต้องดำเนินการเรียกคืนที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นสวนสาธารณะ หรือให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามครรลองของกฎหมายต่อไป แต่หากไม่ดำเนินการสมาคมฯ จำต้องนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป”

แต่ชูวิทย์ ยืนยันว่า "ที่ดินยังเป็นของตน มีหลักฐานการเสียภาษีชัดเจน เมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 เพิ่งชำระภาษีที่ดินไปเป็นเงินกว่า 2,250,000 บาท และไม่เคยโอนให้ไปเป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ผ่านมาได้ให้ทำเป็นสวน ไม่ได้ทำธุรกิจ ค่าเสียโอกาสในการพัฒนาทางธุรกิจเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว"

หากไล่เรียง “คำพิพากษาศาลฎีกา" ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ (การอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะเป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304) ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า "การแสดงเจตนายกที่ดินให้เป็นที่สาธารณะด้วยวาจาโดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลเป็นที่สาธารณะตามกฎหมาย"
......แม้จะไม่แก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินก็เป็นที่สาธารณะได้ และเมื่อที่ดินตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ย่อมไม่สามารถโอนให้แก่บุคคลอื่นโดยทางนิติกรรมได้อีก แม้จะมีการโอนไปให้บุคคลอื่นก็ไม่มีผลให้ที่ดินหมดสภาพจากการที่สาธารณะ

ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าว"ศรีสุวรรณ-สวนชูวิทย์ว่า "ได้รับรายงานจากนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเบื้องต้นข้อมูลที่เป็นเอกสารจาก กทม. พบว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่สาธารณะ กทม.ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด ยังเป็นที่ดินเอกชนอยู่ และมีการจ่ายภาษีที่ดินต่อเนื่องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาการจ่ายภาษีรวม 3,000,000 บาท

ส่วนการยกที่ดินให้เป็นสาธารณะ เข้าใจว่าเกิดขึ้นในกระบวนการชั้นศาลฎีกา ซึ่งกทม.ไม่มีข้อมูล จึงได้มอบหมายให้ปลัด กทม. ทำหนังสือขอคัดลอกคำพิพากษาหรือคำให้การในศาลฎีกา ว่ามีแนวทางปฎิบัติทางกฎหมายอย่างไร และข้อมูลที่แสดงเจตจำนงทั้งถ้อยแถลงและเจตนา ซึ่งทางศาลไม่ได้แจ้งข้อมูลส่วนนี้ ต้องไปดูรายละเอียดให้ชัดเจน"

ถอดรหัสข้างต้นนั้น เกมนี้ที่มีผลประโยชน์ของมูลค่าที่ดินนับหมื่นล้านบาทเป็นเดิมพันน่าจะลากกันอีกยาวและเป็นมหากาพย์ชีวิตรวมทั้งการตีความทางกฎหมายที่แต่ละฝ่ายยึดถือแนวทางที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์

ใครใช้เหลี่ยมเชิงของกฎหมายเพื่อเจตนาอันใดนั้น สังคมต้องจับตาและพินิจกันให้ถ้วนถี่เพราะเกมนี้และเกมอื่น ๆ ที่พัวพันชูวิทย์มันยังมีอีกหลายชั้นที่ต้องแกะรอยว่า แต่ละเคสที่ชูวิทย์เเฉออกมานั้นจริงใจ รับงานมาหรือไม่.....

แต่ที่แน่ ๆ ชั้นเชิงของชูวิทย์นั้น"เหลี่ยมคู"หาที่เปรียบมิได้เลยจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น