xs
xsm
sm
md
lg

ค่าฝุ่น "เชียงราย" ยังวิกฤต พบผู้ป่วยอาการกำเริบเร็วขึ้น ย้ำ WFH สั่ง รพ.ปรับระบบบริการแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สสจ.เชียงราย เผยค่าฝุ่น PM 2.5 ยังวิกฤตหนัก จากไฟป่า 3 แห่งตัวเมืองยังสูง 250 มคก./ลบ.ม. อ.แม่สายพุ่ง 350 มคก./ลบ.ม. ห่วงทำผู้ป่วยปอด-หอบหืดอาการกำเริบเร็วขึ้น แต่แนวโน้มผู้ป่วยยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตาม เฝ้าระวัง 7 กลุ่มเสี่ยงพบวันนี้มารักษา 178 ราย ย้ำค่าฝุ่นเกิน 91 มคก./ลบ.ม.ควรงดออกจากบ้าน เน้น WFH สั่งปรับระบบบริการเลื่อนนัดผู้ป่วยที่คุมอาการได้ ติดตามผ่านเทเลเมดิซีน ส่งยาผ่านไปรษณีย์ จัดห้องปลอดฝุ่นใน รพ. 444 แห่ง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เชียงราย กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ จ.เชียงราย ว่า วันนี้สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ตัวเมืองอยู่ที่ประมาณ 200-250 มคก./ลบ.ม. ส่วน อ.แม่สาย ประมาณ 300-350 มคก./ลบ.ม. ซึ่งช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นค่อนข้างสูงขึ้น เนื่องจากมีไฟป่า 3 ที่ คือ อ.พาน อ.แม่จัน และบริเวณดอยตุง แต่ช่วงที่ค่าฝุ่นสูงสุดอยู่ที่สัปดาห์ก่อน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ค่าฝุ่นยังอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จากการเฝ้าระวังจำนวนผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่มารับบริการใน รพ. ข้อมูลวันที่ 7 เม.ย. พบจำนวน 178 ราย แยกเป็น ผู้ป่วยฉุกเฉิน 41 ราย ผู้ป่วยใน 6 ราย และผู้ป่วยนอก 131 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด เป็นต้น มีอาการแสดงหรือกำเริบเร็วขึ้น โดยจะเป็นระยะเฉียบพลัน คือ อาการด้านดวงตา เช่น เยื่อบุตาอักเสบ คันตา แสบตา หรือผิวหนังอักเสบ แสบคันบริเวณผิวหนัง คัดจมูก ไอ จาม แต่แนวโน้มปริมาณคนไข้ไม่ได้เพิ่มสูงตามค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้เรามีการแจ้งประชาชนให้ป้องกันตนเองส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ในสถานบริการ จำนวน 444 แห่งมีผู้ใช้บริการ 7,215 ราย ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ก็มีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 247 แห่ง ดูแล 3,305 ราย โรงเรียน 444 แห่ง ดูแล 4,360 ราย อปท. 529 แห่ง ดูแล 3,329 ราย รวมถึงเราส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใส่หน้ากากและทำ Clean Room ในบ้านตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย โดยมี อสม.และ อปท.ช่วยลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัยไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งแบบ Surgical Mask และแบบ N95 สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงเคาะประตูเยี่ยมบ้าน 7 กลุ่มเสี่ยงด้วย ได้แก่ เด็ก 87,967 ครั้ง , ผู้สูงอายุ 406,173 ครั้ง , หญิงตั้งครรภ์ 4,603 ครั้ง , ดรคหอบหืด 12,558 ครั้ง , โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 6,200 ครั้ง , ผู้ป่วยติดเตียง 10,747 ครั้ง และผู้ป่วยเจาะคอ 121 ครั้ง


นพ.วัชรพงษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดูแลป้องกันสุขภาพประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก เรามีการแจ้งเตือน 3 เวลา และให้แต่ละอำเภอช่วยกันแจ้งเตือนว่า หากค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 91 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่มลพิษทางอากาศสูง และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ควรอยู่กับบ้านอยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่จัดทำไว้ หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี ส่วนกลุ่มที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมีการแจ้งผ่านที่ประชุมของจังหวัด ขอความร่วมมือว่าหากมีการเตือนค่าฝุ่นที่เกินปริมาณ ให้มีการทำงานแบบ Work From Home ได้

สำหรับการให้บริการด้านสุขภาพใน รพ.ต่างๆ นั้น สสจ.เชียงรายมีการออกประกาศตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 กำหนดแนวทางปฏิบัติงานในช่วงเวลาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนี้ 1.ให้สถานบริการและหน่วยงานทุกแห่งในสังกัด สสจ.เชียงราย พิจารณาปรับระบบการให้บริการและการปฏิบัติงาน โดยเลื่อนนัดผู้ป่วยตามความเหมาะสม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่สามารถควบคุมอาการได้ โดยให้จัดส่งยาทางไปรษณีย์เพื่อลดการเดินทาง ให้บริการรักษาด้วยวิธี Telemedicine ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาที่ รพ. ก็จะให้บริการในห้องปลอดฝุ่น ส่วนจะต้องรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละอองไปอีกนานแค่ไหน หากเป็นไปในทางที่ดี ก็คือวันเสาร์และอาทิตย์นี้ หรือวันที่ 8-9 เม.ย. จะมีพายุฤดูร้อนก็อาจจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งระหว่างนี้ทางผู้ว่าฯ ก็ให้แต่ละสถานบริการทั้งรัฐและเอกชนติดสปริงเกอร์และบ้านเรือนฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นช่วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น