หมอเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เผยสงครามข่าวสาร ประโคมข่าวซ้ำๆ ว่า กัญชากำลังทำร้าย “เด็กไทย” ทำให้สังคมเห็นว่า กัญชาคือ “ปีศาจร้าย” ต้องเอากลับไปเป็น “ยาเสพติด” แต่ความเป็นจริง คือ การจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด คือ “การทำร้ายเด็ก” เพราะเมื่อพ่อแม่ครอบครองกัญชาก็จะถูกจับเข้าคุก ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงยากัญชา หลายประเทศจึงแก้กฎหมาย เพราะเห็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และผลเสียต่อเด็กจากการจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด”
“เด็กไทย” กำลังถูกจับเป็นตัวประกัน:
รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่ข่าวและออกมารณรงค์ว่า มีเด็กและเยาวชนใช้กัญชามากขึ้นและเจ็บป่วยจากกัญชาจำนวนมาก ให้เอากัญชากลับไปเป็น “ยาเสพติด” อีกครั้ง ทั้งยังอ้างงานวิจัยว่า กัญชาทำลายสมองเด็ก ทำให้สติปัญญาหรือไอคิวตกต่ำ ทำลายอนาคตของชาติ
การพูดซ้ำๆ ตอกย้ำบ่อยๆ อาจจะทำให้หลายคนหลงเชื่อ คล้อยตาม โดยไม่พิจารณาความจริงที่รอบด้าน [1] จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลองพิจารณาข้อมูลอีกด้าน ดังต่อไปนี้
กัญชาช่วยลดการสูบบุหรี่และยาเสพติดอื่นๆ:
เยาวชนมักจะลองใช้กัญชาอยู่แล้ว แม้จะถูกจัดให้เป็นยาเสพติด เพราะเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เหมือนกับที่เขาลองสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
บทเรียนจากต่างประเทศพบว่า เยาวชนมีแนวโน้มจะลองใช้กัญชามากขึ้นอยู่แล้ว ตั้งแต่ “ก่อน” การแก้กฎหมายยาเสพติด [3]
แต่กัญชามีฤทธิ์เสพติด “น้อยกว่า” กาแฟ [2] เทียบไม่ได้เลยกับ “บุหรี่” และ “สุรา” ที่เมื่อลองแล้ว จำนวนมากจะกลายไปเป็นลูกค้าของบริษัทขายบุหรี่และสุราไปตลอดชีวิต
อีกทั้งยังพบว่า เยาวชน “สูบบุหรี่ลดลง” “ดื่มสุราลดลง” และ “ใช้สารเสพติดอื่นๆ ลดลง” อีกด้วย [4][5]
การศึกษาในแคนาดา พบว่า คนที่ติดบุหรี่ เมื่อนำกัญชามาใช้ทดแทน สามารถ “ลดหรือเลิกบุหรี่” ได้สูงถึง “ร้อยละ 74” [6] (สสส.ควรให้ความสนใจ !?)
เป็นแบบนี้ “คนขายบุหรี่” ก็คงไม่ชอบอย่างแน่นอน
“บุหรี่” มี “ฤทธิ์เสพติด” มากกว่า “เฮโรอีน” และ “โคเคน” ปัจจุบันเยาวชนไทย “เสพติดบุหรี่” จำนวนมากถึง 940,000 คน [7] ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อเด็กมากมาย
นี่ยังไม่นับผู้ใหญ่ที่เสพติดบุหรี่อีก 7.8 ล้านคน [7] ที่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอีกหลายคน จากการ “สูบบุหรี่มือสอง” อีกด้วย รวมทั้ง “เด็ก” ในบ้านด้วย
แต่ยังไม่เห็น “คนรักเด็ก” ออกมารณรงค์เรียกร้อง จัดให้บุหรี่เข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติด แต่อย่างใด
กัญชาไม่ได้ทำลายสมอง แต่มีสรรพคุณปกป้องสมอง:
มีงานวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “กัญชาไม่ได้ทำลายสมอง” เช่น
การสังเคราะห์งานวิจัย เรื่อง ผลของกัญชาต่อสมองด้วยเครื่องสแกนสมองแม่เหล็กไฟฟ้า จำนวน 16 งานวิจัย พบว่า กัญชาไม่ได้ทำลายสมอง เด็กที่ใช้กัญชามีโครงสร้างของสมอง “ไม่แตกต่าง” จากเด็กที่ไม่ได้ใช้กัญชา [8]
งานวิจัยของนักวิจัยประเทศอังกฤษร่วมกับนักวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ติดตามเด็กคู่แฝด จำนวน 1,989 คู่ คนหนึ่งใช้กัญชา อีกคนไม่ได้กัญชา พบว่า สติปัญญา (IQ) และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ (EF) “ไม่แตกต่างกัน” [9]
มีการจดสิทธิบัตร เรื่อง กัญชามีสรรพคุณ “ปกป้องสมอง” [10]
เด็กที่มีโรคทางสมอง ชักไม่หยุด แม้ให้ยาหลายขนาน เมื่อใช้ยากัญชาทำให้หยุดชักได้ และสมองดีขึ้น [11]
เด็กที่เป็นโรคออติสติก มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชกตีตนเอง เอาศีรษะโขกกำแพง หลังจากใช้ “ยากัญชา” ทำให้หยุดพฤติกรรมเหล่านั้นและกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ [12]
การวิจัยที่ประเทศจาเมกา โดยศาสตราจารย์มาลินี เดรเฮอร์ คณบดีคณพยาบาลศาสตร์ที่ชิคาโก้ สหรัฐ พบว่า มารดาที่สูบกัญชาขณะตั้งครรภ์ ลูกที่คลอดออกมา มีสมองและพัฒนาการ “ดีกว่า” เด็กกลุ่มที่แม่ที่ไม่ได้สูบกัญชา [13]
การรวบรวมผลงานวิจัยมากกว่า 1,000 ชิ้น พบว่า การใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ “ไม่มีผลต่อสมอง” ของเด็กที่เกิดมา [14]
พญ.บอนนี่ โกล์ดสไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการและการศึกษาด้านกัญชาทางการแพทย์ ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บรรยายว่า ยากัญชาใช้รักษา “โรคที่เกิดกับเด็ก” ได้หลายโรค และได้ผลดี รวมทั้ง “โรคทางสมอง” [15]
งานวิจัยเรื่องที่สรุปว่า “กัญชาทำลายสมอง” มักจะมีอคติ เพราะไม่ได้วิเคราะห์โดยขจัดอิทธิพลของตัวแปรกวน เช่น การใช้เหล้า บุหรี่ ยาเสพติดอื่นๆ และปัญหาในครอบครัว ออกไปก่อน
แต่งานที่มีอคติเหล่านี้มักจะถูกนำไปใช้อ้างอิงบ่อยๆ เพื่อโจมตีกัญชา
ผลกระทบด้านลบ ทางสังคม จากกฎหมายยาเสพติด:
การจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด คือ “การทำร้ายเด็ก”
เมื่อพ่อแม่ถูกขังคุก เพราะครอบครองกัญชา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ ทำให้ชีวิตครอบครัวล่มสลาย ยากจนลง ออกจากคุกมาก็หางานทำยาก เพราะถูกตีตรา
ตอนพ่อแม่อยู่ในคุกก็ไม่มีใครเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนเด็ก
ทำให้เด็กกลายเป็นคนมีปัญหา คบเพื่อนเลว ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อ และตั้งท้องในวัยรุ่น [16]
บางมลรัฐในสหรัฐ เคยมีจำนวนเยาวชน “ถูกขังคุก” เพราะครอบครองกัญชา มากเป็น 7 เท่าของผู้ใหญ่ [17]
การอ้างว่า “ให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น” คือ “การปิดกั้น” การเข้าถึงยากัญชา:
คุณหมอเจนนิเฟอร์ แอนเดอร์สัน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ประเทศแคนาดา มีลูกเป็นโรคลมชัก กินยาแผนปัจจุบันทุกขนานแล้วก็ไม่หายชัก ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง พอมาใช้กัญชาแบบใต้ดิน ลูกกลับหยุดชักได้ เปลี่ยนเป็นคนใหม่ ใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปได้[18]
ในช่วงนั้น ประเทศแคนาดา ยังบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่อนุญาต “ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น” แต่เธอก็พบว่า การหายากัญชาแบบถูกกฎหมายมารักษาลูกนั้น “ยากมาก” และราคาก็ “แพงมาก”
น่าจะคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทยในปัจจุบันที่แพทย์ส่วนใหญ่ “ไม่จ่ายยากัญชา”
เธอจึงเป็นผู้นำคนหนึ่งที่ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายยาเสพติด จนประเทศแคนาดาแก้กฎหมายอีกครั้งให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาไว้รักษาตัวเองได้
เพราะเธออยากให้ “คุณแม่คนอื่นๆ” ที่มีลูกป่วยได้เข้าถึงยากัญชา
เธอยังพบอีกว่า ยากัญชาที่มีทั้ง “ซีบีดี” และ “ทีเอชซี” ได้ผล “ดีกว่า” ยากัญชาที่มี “ซีบีดี” อย่างเดียว
หลายประเทศแก้กฎหมาย เพราะเห็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและ “ผลเสียที่เกิดขึ้นกับเด็ก” จากการจัดให้ “กัญชาเป็นยาเสพติด” นี่เอง
ข้อคิดปิดท้าย:
การจับเด็กเป็นตัวประกัน สร้างภาพให้สังคมเห็นว่า กัญชา คือ “ปีศาจร้าย” กำลังทำร้ายเด็กๆ จึงต้องเอากลับไปเป็น “ยาเสพติด” อีกให้ได้
แต่กลับไม่สนใจ หรือมองข้ามยาเสพติดอื่นๆ ที่เสพติดจริง อันตรายจริง และควรถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติด เช่น บุหรี่
สิ่งนี้คือ “การทำร้ายเด็ก” และ “ทำลายครอบครัว” คนไทย อย่างแท้จริง
เป็นการ “สกัดกั้น” เด็กที่ป่วยด้วยโรคร้ายไม่ให้เข้าถึง “ยากัญชา” แบบเนียนๆ
สรุปว่า นี่คือ “การหวังดี” แต่ “ประสงค์ร้าย” นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง:
[1] ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์. ประชาชนจะเชื่อใครดี ในยุค “สงครามข่าวสาร” ต่อต้านกัญชา.
ผู้จัดการออนไลน์. เผยแพร่: 5 มีนาคม พ.ศ.2566.
https://mgronline.com/daily/detail/9660000020951
[2] Steven C. Markoff. Is Marijuana Addictive? The Medical Marijuana Magazine.
http://www.drugsense.org/mcwilliams/www.marijuanamagazine.com/toc/addictiv.htm
[3]https://www.emcdda.europa.eu/media-library/infographic-last-year-prevalence-cannabis-use-among-young-adults-15-34-selected-trends-and-most-recent-data_en
[4]https://www.oecd-ilibrary.org/sites/77bdc401-en/index.html?itemId=/content/component/77bdc401-en
[5] Reed JK. Impacts of Marijuana Legalization in Colorado: A Report Pursuant to Senate Bill 13‐283. Denver: Colorado Department of Public Safety. 2021.
[6] PMID: 34118713
[7] สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ข้อมูลตัวชี้วัดสังคม.https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=PageSocial
[8] PMID: 35443799.
[9] PMID: 28734078.
[10] https://patents.google.com/patent/US6630507B1/en
[11] PMID: 26800377.
[12] PMID: 30687090. และ https://www.youtube.com/watch?v=yPSUo0P72ro
[13] PMID: 8121737.
[14] PMID: 32457680.
[15] Bonni Goldstein. Treating Pediatric Conditions with Medicinal Cannabis.
Cannabis is Medicine: How Medical Cannabis and CBD are Healing Everything from Anxiety to Chronic Pain. Little, Brown Spark. (2020).
https://canna-centers.com และ
https://www.youtube.com/watch?v=yAQGof5gKaQ
[16] Gjelsvik A, et al. Adverse childhood events: incarceration of household members and health-related quality of life in adulthood. J healthcare poor underserved. 2014;25(3):1169–82.http://doi.org/10.1353/hpu.2014.0112 และ https://muse.jhu.edu/article/552192
[17] Drug Policy Alliance. From Prohibition to Progress: A Status Report on Marijuana Legalization. Washington DC: Drug Policy Alliance. 2018. Page 5.
https://drugpolicy.org/legalization-status-report
[18] Jennifer Anderson. Anything Can Happen.
https://m.youtube.com/watch?v=hl-Jvk412pc