xs
xsm
sm
md
lg

รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดบ้านรู้จัก "คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก" สร้างความพร้อมให้พ่อแม่ต้องการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพิ่มความสุขของครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างประชากรโดยมีอัตราเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งจัดเป็นวาระแห่งชาติ โดยพบว่าหนึ่งในสาเหตุของปัญหาภาวะการมีบุตรยากของกลุ่มประชากรที่มีคุณภาพและมีความพร้อมที่มีความต้องการมีบุตร การศึกษาที่สูงขึ้น ค่านิยมอยู่เป็นโสด และความหลากหลายทางเพศทางสังคมจะทำให้อัตราการเกิดลดลงแล้ว สาเหตุสำคัญยังมาจากคนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทุกปี และเมื่อพอเริ่มอยากจะมีลูกทำให้มียาก ขณะที่ผู้หญิงหากอายุมากขึ้นเซลล์ของไข่ก็จะเสื่อมสภาพ ส่งผลให้การมีบุตรยากขึ้น หรือตั้งครรภ์ก็อาจเกิดความเสี่ยง" เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าว Open House Miracle of Life โดย Fertility Clinic and IVF Center

เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์
"โดยศูนย์การเจริญพันธุ์และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility Center and IVF Clinic) เข้าใจปัญหาลักษณะนี้เป็นอย่างดี ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ ผสานกับเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ที่ครบถ้วน ยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ที่เป็นตัวเลขตัวชี้วัดความสำเร็จที่ระดับ 90% บำรุงราษฎร์และทีมแพทย์ มีความยินดีและพร้อมให้ข้อมูลการเตรียมตัวและการวางแผน เพื่อการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อการมีทายาทตัวน้อย มาเติมเต็มความสุขในครอบครัว ทำให้บ้านสมบูรณ์และอบอุ่นตลอดไป"

รศ.นพ.นพดล สโรบล หัวหน้าศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รศ.นพ.นพดล สโรบล หัวหน้าศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีจำนวนคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากเป็นพันแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่คลินิกขนาดเล็กจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ดังนั้นคนไข้ต้องคำนึงถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์ ทีมบุคลากรในการร่วมกันดูแลรักษา และห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะภาวการณ์มีบุตรยากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล

“ศูนย์การเจริญพันธ์และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility & IVF Center) บำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการมานานกว่า 25 ปี มีจุดเด่นในเรื่องของการดูแลรักษาตามหลักจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่โรงพยาบาลเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น ทั้งยังประกอบด้วยทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการด้านการเจริญพันธุ์ของศูนย์กว่า 20 ท่าน ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยอย่างครบวงจร อาทิ การตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ที่ลงลึกไปในระดับดีเอ็นเอ, การฝากไข่, การทำเด็กหลอดแล้ว ไปจนถึงทีมบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงมาก โดยมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 90% ซึ่งสามารถดูแลอย่างครบวงจรได้ในที่เดียว”รศ.นพ.นพดล สโรบล กล่าว

รศ.นพ.ชาติชัย ศรีสมบัติ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดด้วยกล้อง
รศ.นพ.ชาติชัย ศรีสมบัติ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดด้วยกล้อง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในหัวข้อ การวางแผนและเตรียมตัวมีบุตรอย่างมีคุณภาพ งานแถลงข่าว Open House Miracle of Life โดย Fertility Clinic and IVF Center อธิบายว่า ภาวะมีบุตรยาก คือ การที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และไม่มีการคุมกำเนิดติดต่อกันประมาณ 1 ปี แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์จะเข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก หรือผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจมีบุตร จะเริ่มเข้าสู่ภาวะมีลูกยากเช่นกัน

"ภาวะมีบุตรยาก เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยอายุของฝ่ายหญิงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณมีลูกยาก ทั้งนี้ อายุไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียว ยังมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ภาวะมดลูกที่มีความผิดปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกมีเนื้องอกที่ผิดปกติ มีซีสที่รังไข่ มีช็อกโกแลตซีส หรือว่าเคยผ่าตัดที่รังไข่มาก่อน ซึ่งปัจจุบันพบว่าปัญหาดังกล่าวพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อย ก็สามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้ผลการรักษาดีฟื้นตัวเร็ว เพิ่มผลสำเร็จของการตั้งครรภ์เองและการทำเด็กหลอดแก้ว จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการประเมินและการคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ " รศ.นพ.ชาติชัย กล่าว

นอกจากนี้ หากเคยได้รับยาเคมีบำบัดไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายภาวะพวกนี้ อาจจะมีผลทำให้ทั้งไข่และสเปิร์มมีคุณภาพลดลง หรือถ้าเคยมีหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะนี้อาจทำให้แพทย์นึกถึงท่อนำไข่ ที่อาจจะตีบหรือตันจนทำให้มีลูกยาก

"ขณะที่ สาเหตุทางฝ่ายชาย เช่น ตัวอสุจิไม่สมบูรณ์ เคยผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ไส้เลื่อนที่อัณฑะ เคยมีการกระทบกระเทือนที่บริเวณอวัยวะเพศอย่างรุนแรง และมีประวัติการผ่าตัด ที่บริเวณที่อาจจะมีเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติดอื่นๆ"

พญ.ณหทัย ภัคธินันท์ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ.ณหทัย ภัคธินันท์ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ อธิบายว่า การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือ IVF (In-vitro Fertilization) เป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ตัวอ่อน) ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป และเพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนไข้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และการเป็น World Medical Destination จึงมีทั้งคนไข้ไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการ จึงมีโอกาสได้แก้ไขเคสยากๆ มามากมายสะสมเป็นองค์ความรู้และความชำนาญ มีเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการที่มีความสะอาด ได้มาตรฐาน JCI แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับมีเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน Preimplantation Genetic Testing (PGT)ที่ช่วยให้การทำเด็กหลอดแก้วมีอัตราความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นเป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ร่วมกับการรักษาด้วยกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) โดยการสุ่มดูดเซลล์ของตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วมาตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนที่จะทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้สถิติการทำ IVF ของบำรุงราษฎร์ ในปี พ.ศ. 2563 ถึง 2565 อัตราความสำเร็จ พบว่าอายุน้อยกว่า 35 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 70% อายุ 35-37 ปี อยู่ที่ 65% อายุ 38-40 ปี อยู่ที่ 61% อายุ 41-42 ปี อยู่ที่ 89% และ อายุ มากกว่า 42 ปีขึ้นไป และ 90% พบกับคนที่อายุมากที่สุดที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอยู่ที่ 44 ปี

"ทั้งนี้ ทางรพ.ยังมีเรื่องของเทคนิคในการทำหรือที่เรียกว่า ICSI ต่างกันเล็กน้อย คือ การทำ IVF เป็นการนำไข่ 1 ใบ และสเปิร์มประมาณ 20,000 ตัว ให้สเปิร์มตัวที่ดีที่สุดผสมกับไข่เอง อัตราความสำเร็จ 70-80% ขณะที่ ICSI คือ การเลือกสเปิร์มตัวที่ดูดีที่สุด สมบูรณ์ของสารพันธุกรรมมากที่สุดผสมกับไข่ 1 : 1 โดยอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 80-90% ดังนั้น รพ.บำรุงราษฎร์จะใช้วิธี ICSI เป็นหลัก"

ในกรณีที่การทำเด็กหลอดแก้วแล้วตั้งครรภ์แฝด หากทำที่คลินิกมักพบปัญหาเรื่องการฝากครรภ์ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลจะไม่รับเคสแฝดจากที่อื่น เนื่องจากมารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี อาจมีภาวะเบาหวาน ความดันได้ง่าย หรือโรคประจำตัวอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการมีครรภ์แฝด หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงในช่วงทารกอยู่ในครรภ์ ทีมสูตินรีแพทย์จะเป็นทีมหลักที่ดูแล จนกระทั่งอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ทีมบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด NICU จะเข้าไปเป็นทีมเสริมเพื่อช่วยวางแผนและให้คำปรึกษา หลังทารกคลอด ทีม NICU จะมีหน้าที่หลักในการดูแล ซึ่งเรามีทีม NICU ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงมาก

ผศ.นพ.พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชพันธุศาสตร์
ปัจจุบันการตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคร้ายบางชนิดที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกได้ โดยแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์พันธุศาสตร์จะทำการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติ สามารถตรวจได้มากกว่า 600 ยีน หรือราว 300 กว่าโรค รวมถคงโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย เช่น โรคธาลัสซีเมีย รวมไปถึงโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็ง และ หัวใจ

ผศ.นพ.พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชพันธุศาสตร์ กล่าวว่า บำรุงราษฎร์ได้พิจารณาชุดตรวจยีนจากอัตราการเกิดโรคทางพันธุกรรมในเด็กที่ค่อนข้างสูง เช่น โรคจากยีนด้อยโครโมโซมเอกซ์ ดาวน์ซินโดรม หูหนวก โรคเลือด อาทิ โรคธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรคและภาวะทางพันธุกรรมอื่นๆ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมที่สุด เช่น การตรวจ Cell-Free DNA ของทารกที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดแม่ เพื่อดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) โดยใช้วิธีเจาะเลือดแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารก แทนการเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแท้ง เป็นต้น

"แนะนำให้คู่สมรสทั้งที่มีประวัติและไม่มีประวัติโรคกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดในครอบครัวตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ เพราะบางครั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นพาหะหรือที่เราเรียกกันว่ายีนแฝงไม่รู้ตัว คู่สมรสที่มีบุตรแล้วและคนที่มีประวัติครอบครัวมีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้การตรวจยีน ยังสามารถตรวจได้ด้วยตัวเองแบบเก็บตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะทราบผล"

ผศ.พญ.ชนัญญา ตันติธรรม สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
การฝากไข่และการวางแผนมีบุตร สำหรับคนที่วางแผนจะมีลูกในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่แต่งงาน หรือยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ตอนนี้ เรามีวิธีอย่างไรในการให้ลูกที่จะเกิดมาแข็งแรง

ผศ.พญ.ชนัญญา ตันติธรรม สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวถึงการฝากไข่ว่า การฝากไข่ให้ประโยชน์ในแง่ของการเก็บรักษาเซลล์ไข่เอาไว้ ในอุณหภูมิที่ต่ำเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการตั้งครรภ์ในอนาคต ตามทฤษฎีจะเก็บไว้ได้ตลอดไป แต่แนะนำว่าควรจะกลับมาใช้ใน 10 ปี โดยการฝากไข่หนึ่งครั้ง แนะนำว่าควรเก็บไข่ให้ได้ 10-15 ใบ เพื่อที่จะได้มีโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง หลังจากเราเก็บไข่แล้ว ละลายออกมาใช้ โอกาสที่ไข่จะอยู่รอดมีประมาณ 90% และเมื่อไปปฏิสนธิกับอสุจิโอกาสก็จะประมาณ 70-80%

โดยคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ รวมถึงความพร้อมของทีมห้องผ่าตัด (OR) ในกรณีที่เกิด complication ซึ่งบำรุงราษฎร์คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย (patient safety) เป็นสำคัญสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การตรวจหาความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ โดยแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง เสริมสร้างและการบำรุงสุขภาพร่างกายเพื่อเพิ่มคุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ไข่และน้ำเชื้อ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 02-0112364, 02-0112368 สายด่วน 090-9722609 หรือโทร. 1378








กำลังโหลดความคิดเห็น