xs
xsm
sm
md
lg

เปิดนโยบาย 5 พรรค คุม "บุหรี่ไฟฟ้า" หากได้เป็นรัฐบาล ลั่นไม่ดันเป็นสินค้าถูก กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



5 พรรคการเมือง ยันจุดยืนไม่เอา "บุหรี่ไฟฟ้า" พร้อมเผยนโยบายควบคุม พปชร.ซัดเป็นปีศาจจำแลง ลั่นไม่แก้ กม.ให้ขาย-นำเข้า ปชป.ชี้เป็นสงครามข้อมูล ต้องขยายเครือข่ายรณรงค์ ด้าน ชทพ.ระบุไม่ป่วย 1 ปี ให้เงินคืน 3 พันบาท บ้าน ร.ร. รัฐต้องช่วยป้องกันเยาวชนเข้าถึง สร.ชูปราบคอร์รัปชันเจ้าหน้าที่ปมนำเข้า ส่วน พท.ลั่นหากเป็นรัฐบาล นายกฯ จะนั่งหัวโต๊ะ ดึงทุกกระทรวง ทุกฝ่ายแก้ปัญหา ดันเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ภายในงานประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส ปี 2566 ครั้งที่ 13 มีการจัดเสวนา "นโยบายพรรคการเมือง กับสุขภาพของประชาชน ให้พ้นภัยนิโคตินจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า" โดยมีผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมแสดงจุดยืนและนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตนเคยสูบบุหรี่อยู่หลายปี จนพบกับปัญหาสุขภาพ มีอาการเหนื่อยหอบทั้งที่เป็นวัยหนุ่ม จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ โดยใช้วิธีหยุดสูบ สุขภาพก็ดีขึ้น ถือว่ามีประสบการณ์ตรง โดยการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่มองว่าเป็นการดีต่อสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่ายา เพราะแค่เลิกบุหรี่สุขภาพก็จะดีขึ้นทันที ส่วนนโยบายของพรรคนั้นคำนึงถึงการรณรงค์การลดละเลิกบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะมีนักวิชาการ นักวิจัย หรือบริษัทต่างประเทศรับรองอ้างอิงใดๆ เพื่อที่จะให้เห็นข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้าก็ตาม จากประสบการณ์โดยตรงที่เคยสูบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินนโยบายเลิกสูบบุหรี่มวน แต่ไปส่งเสริมให้มีบุหรี่ไฟฟ้าทดแทน เพราะจะกลายเป็นการต่อยอด


"ที่บอกว่าบุหรี่เป็นปีศาจ บุหรี่ไฟฟ้าก็จะกลายเป็นปีศาจจำแลงขึ้นมาอีกรูปแบบ แล้วไปหลอกว่าดี ก็จะทำให้ภาระหน้าที่พวกท่านทั้งหลายที่ต่อสู้รณรงค์เลิกบุหรี่ กลายเป็นสูญเปล่าหรือเสียหายอย่างสิ้นเชิง ซึ่งยอมให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นไม่ได้ และจะกลายเป็นบันไดขั้นต่อไปสู่การเสพยาเสพติดอื่นๆ การเสนอสารใดที่มีการเสพติด ถ้ามีการนิยมเกิดขึ้นหรือค่านิยมเปลี่ยนไป อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาสังคมจะเกิดขึ้นตามมามากมาย เป็นการเปิดประตูไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมา" นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้งพรรคและหัวหน้าพรรคจะไม่สนับสนุนให้มีการเสพสารเสพติดใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่พรรคจะทำ คือ ไม่มีวันยอมให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อที่จะให้การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะคัดค้านทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงจะร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพต่างๆ ช่วยรณรงค์ถึงพิษภัยบุหรี่ ให้เป็นสังคมไทยปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า หากมีเรื่องใดต้องการให้พรรคช่วยรณรงค์สามารถแจ้งมาที่พรรคได้เลย นอกจากนี้ เรายังมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย มีเรื่องปลอดบุหรี่ด้วย อย่างนโยบาย "คุณแม่ บุตรธิดาประชารัฐ" จะส่งเสริมให้แม่มีรายได้ที่สนับสนุนจากรัฐเดือนละ 10,000 บาท 5 เดือน เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เมื่อคลอดมีเงินสนับสนุนจนถึง 6 ขวบเดือนละ 3,000 บาท รวมถึงเบี้ยผู้สูงวัยเพื่อดูแลสุขภาพไม่ใช่ซื้อบุหรี่สูบ อีก 3,000 บาทต่อเดือนในอายุ 60 ปี หากอายุ 70 ปีให้ 4,000 บาทต่อเดือน และหากถึง 80 ปีให้ 5,000 บาท

นพ.เทียนชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในฐานะแพทย์เห็นผู้ที่เกิดปัญหาสุขภาพจากบุหรี่จำนวนมาก โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ คนไข้ไม่ทำตามคำแนะนำมักจะมาหาแพทย์บ่อยกว่าปกติ จริงๆ แล้วคนติดบุหรี่ไม่ใช่ว่าไม่รู้ มีความรู้ครบว่าบุหรี่ไม่ดีอย่างไร พูดได้แต่ให้เลิกก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะอยู่ในภาวะติด ยิ่งบริษัทผลิตบุหรี่ตั้งเป้าอุตสาหกรรมให้โตกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ยิ่งมีการแข่งขันกัน แต่ทุกวันนี้การสูบบุหรี่ลดลงมาจากวิชาชีพด้านสาธารณสุขร่วมกัน แต่การให้ไม่มีผู้สูบเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมหรือคุมกำเนิดได้หรือสร้างค่านิยมให้สังคมไทยแข็งแรง โดยส่วนที่ยอมไม่ได้ที่จะทำให้พลังของชาติเสียไป คือ กลุ่มเยาวชน วัยหนุ่มสาวที่จะสร้าง GDP ให้ประเทศไทยในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ข้ามชาติ


สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นการต่อสู้ของข้อมูล บริษัทผู้ผลิตก็มีการจ้างทีมวิจัย เพื่อมาลบข้อด้อยของบุหรี่มวน บอกบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่สามารถเลือกใช้โดยไม่ต้องหันไปสูบบุหรี่มวน คนอ่านข้อมูลก็จะเมาไม่รู้ว่าจะตัดสินอย่างไรว่าดีจริงหรือไม่ ต้องอาศัยกลุ่มแพทย์ที่ใกล้ชิดข้อมูลรณรงค์มากกว่านี้ โดยนโยบายของประชาธิปัตย์คือ ต้องสร้างเครือข่ายที่ใหญ่มากกว่านี้ คือ ใหญ่ระดับครอบครัว มีเวทีเช่นวันนี้ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย อย่างมาก

"ข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้ามีการออกซ้ำๆ เรื่องอะไรที่ไม่จริงพอออกซ้ำๆก็กลายเป็นความจริงได้ ทำให้ของจริงเป็นไม่จริง ของเท็จเป็นของมีน้ำหนักเชื่อถือได้ แนวทางคือต้องต่อสู้ทำความรู้ โดยเข้าสู่กระบวนการกระทรวงศึกษาธิการให้มีนักจิตวิทยา ครูพลศึกษาประจำโรงเรียน" นพ.เทียนชัยกล่าว

ทพ.ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรคเน้นนโยบายเชิงป้องกันแบบเชิงรุก หมายถึง การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค จะเห็นว่างบประมาณค่ารักษาของประเทศภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ หรือประกันสังคม ตัวเลขประมาณ 3.2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4,900 - 5,000 บาทต่อคน ถือว่าสูงมาก เราจึงทำนโยบายเชิงรุกสุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท ถ้าคนไหนไม่เจ็บป่วยเลยภายใน 1 ปี ไม่เข้ารับการรักษาจะมีเงินคืน 3,000 บาท ตัวเลขจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ก็ชัดเจนว่าใช้งบประมาณลดลง แม้จะไม่ได้ไม่ป่วยทุกคน แต่ถ้าป่วยก็มีจำนวนลดลง สุขภาพก็จะดีขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง สุขภาพดีขึ้นก็มีกำลังพัฒนาประเทศได้ดี


ทพ.ดร.อุดมศักดิ์กล่าวว่า พรรคให้ความสำคัญว่า ทำอย่างไรไม่ให้เยาวชนเข้าสู่วงการควันหรือบุหรี่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.บ้านหรือครอบครัว 2.โรงเรียน และ 3.ภาครัฐ โดยต้องสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีนโยบายสร้างศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ เพราะหากลูกคลอดออกมาไม่อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะเกิด Generation Gap จากการลงพื้นที่จะพบปัญหายาเสพติดและอบายมุขในกลุ่มนี้มาก ขณะที่โรงเรียนต้องให้ความรู้ เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงอยากรู้อยากเห็นอยากลอง ขาดการยั้งคิดยั้งทำ หากทำทั้งสองส่วนนี้ได้ จะช่วยป้องกันเยาวชนที่จะเข้าสู่วงการบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นแบบมวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย ไม่ให้มีการซื้อหรือนำเข้ามาได้ ดูแลเด็กเร่ร่อนเข้าสู่การศึกษาให้ได้ รวมถึงรัฐต้องแบ่งงบประมาณการรักษาเข้าสู่งบส่งเสริมสุขภาพ

นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เรามีนโยบาย 14 ข้อ ไม่มีนโยบายใดที่ผลักดันเรื่องทำร้ายสุขภาพ และไม่มีนโยบายผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยมาตรการที่จะใช้คือ ความเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเข้าและจำหน่าย ให้คงบุหรี่ไฟฟ้าในสถานะผิดกฎหมาย และเข้มเจ้าหน้าที่รัฐ ปราบปรามคอร์รัปชันเรื่องกระบวนการนำเข้า ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขได้อย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงสุขภาพของประชาชน เราต้องฟังความเห็นแพทย์ ซึ่งแพทย์ในประเทศระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกบุหรี่ได้ ส่วนการอ้างอิงการศึกษาในต่างประเทศที่ว่าช่วยลดสูบบุหรี่ลง แต่คนก็ติดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย


"ประเทศไทยคนสูบบุหรี่น้อยลงจริง แต่มาจากที่ผ่านมา สสส.และสมาพันธ์ เครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดละเลิกบุหรี่มีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง จำกัดการโฆษณา ควบคุมการจัดจำหน่าย ควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ จนจำนวนผู้สูบลดลงเรื่อยๆ และเป็นจังหวะที่บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาพอดี จึงไม่สามารถมาบอกได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามาทำให้คนสูบลดลงฟรือเข้าสู่บุหรี่ยากขึ้น เพราะคนสูบบุหรี่มีอายุต่ำลงเรื่อยๆ หลายคนก็ใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กับบุหรี่ปกติ การบอกเข้ามาชดเชยหรือว่าอันตรายน้อยกว่าในคนสูบบุหรี่อยู่อาจจะเป็นไปได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้คนเข้าสู่วงการควันง่ายขึ้น จึงไม่สามารถสนับสนุนได้ในเรื่องนี้" นายปริเยศกล่าว

นายปริเยศกล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าทำไมไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ก็เพราะยังไม่มีหลักฐานวิชาการใดๆ ที่ช่วยลดการสูบ เราต้องฟังความเห็นแพทย์เป็นหลัก ส่วนที่ว่าโรงงานยาสูบกลัวเสียรายได้หรือไม่ ก็ไม่เกี่ยว เพราะหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายโรงงานยาสูบก็สามารถปรับตัวได้ สำหรับประเด็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้เป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อวันใดที่กลุ่มเจนนี้ขึ้นมามีลูกมีครอบครัว ก็จะไม่สบายใจหากลูกหลานเข้าสู่วงการควัน ซึ่งวันนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แล้วที่ถามว่ากัญชาอิสระแล้ว ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจะอิสระไม่ได้ ตรงนี้ต้องแก้ที่กัญชาไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยการที่ต่อต้านไม่ได้ก็เข้าร่วมเลยแบบนี้ไม่ถูกต้องจะสร้างปัญหา


ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อก่อนบุหรี่เป็นเรื่องปกติทั้งในทีวี เด็กก็ซื้อได้ แพคเกจจิ้งสวย ซื้อเป็นของฝาก แต่ปัจจุบันถูกควบคุม ในอินเทอร์เน็ตมีความรู้พิษภัยมาก แต่บุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเทรนด์ใหม่ หากเสิร์ชกูเกิลจะพบว่ามีการพูดถึงซื้อที่ไหนอย่างไร แต่ไม่มีเรื่องของโทษภัย แอปฯ ตลาดออนไลน์ก็มีช่องทางเข้าถึงการจำหน่าย ถือเป็นงานหนักของวิชาชีพสุขภาพ ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีการออกประกาศควบคุมปี 2557 แต่เป็นการทำไปปกป้องไป การสร้างองค์ความรู้ได้ทำควบคู่กันหรือไม่ การไม่มีส่วนร่วมจากสังคม หรือการมองปัญหาในอนาคตไม่ชัดพอ ทำให้ปี 2566 จึงได้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาสู่เยาวชนอย่างมาก ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้กฎหมายฉบับใดต่อไปเพื่อปกป้องเยาวชนจะต้องมีการนั่งคุยกันทุกฝ่าย

"บุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาใต้พรม ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มาอย่างมาก ใน YouTube มีวิธีการขายแพ็คเกจสิ่งที่สวยงาม การเสพวิธีการสูบปล่อยควันอย่างไรให้เท่ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ นำมาเป็นวาระแห่งชาติ จะเชิญทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหารือสร้างสมดุลอย่างไร กฎหมายที่ผ่านมาต้องแก้ไขหรือต้องปรับปรุงอะไรหรือไม่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยดึงทุกกระทรวงเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้นายกฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากเป็นพรรคการเมืองก็เสนอได้เพียงแค่แนวคิด และยินดีให้เครือข่ายมาคุยกับพรรคได้เลย" ทพญ.ศรีญาดากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น