ย้ำ "บัตรทอง" ใช้สิทธิตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี 6 รายการ ปีละครั้งที่ "ร้านยา" ไม่ต้องรอป่วย แบ่ง 2 กลุ่มอายุ 15-34 ปี ประเมินภาวะ NCDs และ 35-59 ปี เพิ่มเจาะน้ำตาลในเลือด
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า การเสียชีวิตของคนทั่วโลก 63% เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ส่วนไทยอยู่ที่ 73% ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ปัจจัยสำคัญอยู่ในช่วงวัยทำงานซึ่งเป็นวัยที่สะสมพฤติกรรมต่างๆ อันนำไปสู่โรค NCDs สปสช. จึงมีนโยบายให้ร้านยาเข้ามาช่วยคัดกรองปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งการสูบบุหรี่ การบริโภคหวานมันเค็ม ภาวะอ้วน การออกกำลังกาย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี 6 รายการที่ร้านยาในเครือข่ายของ สปสช. อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทราบภาวะร่างกายว่าอยู่ในภาวะแบบไหน มีความเสี่ยงอะไร และต้องปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงอย่างไร เพื่อลดโอกาสป่วยด้วยโรค NCDs
สำหรับบริการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพจะแบ่งเป็นกลุ่มอายุ 15-34 ปี จะมีการคัดกรองดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสารเสพติด ให้คำแนะนำเพื่อปรับพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยง หรือบางคนต้องการเลิกบุหรี่ก็จะมีโปรแกรมการลดบุหรี่ให้ คนวัยนี้อาจมีความเครียด/ซึมเศร้า ซึ่งนำไปสู่โรคซึมเศร้า ร้านยาก็มีแบบประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำรายบุคคล รวมทั้งประสานงานส่งต่อพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ส่วนช่วงวัย 35-59 ปี ก็คัดกรองแบบเดียวกัน แต่เพิ่มการคัดกรองความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน หากมีระดับน้ำตาลสูงก็จะออกรายงานใบส่งต่อเพื่อส่งต่อให้พบแพทย์ต่อไป รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งบางคนอาจมีภาวะบ่งชี้บางอย่าง เภสัชกรจะประเมินแล้วให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล
“บางคนไม่เคยรับการคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเลย การตรวจคัดกรองที่ร้านยาจะช่วยให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น และถ้าพบความเสี่ยงจะได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือส่งต่อให้แพทย์ดูแลต่อไป รับบริการได้ไม่ต้องรอให้มีอาการโรคก่อน เหมือนการตรวจร่างกายประจำปี พกบัตรประชาชนใบเดียว ไปที่ร้านยาที่มีสติกเกอร์ “ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” แจ้งว่าต้องการตรวจคัดกรองความเสี่ยง ร้านยาจะตรวจสอบสิทธิบัตรทอง ก็เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เช่น ซักประวัติ ถามอายุ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต หากอายุมากกว่า 34 ปี ก็จะเจาะเลือดตรวจน้ำตาล และซักประวัติมากขึ้น” ภก.ปรีชา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคอื่นๆ ทั้ง 1.บริการยาคุมกำเนิด 2.ยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร 3.ยาคุมฉุกเฉิน 4.ถุงยางอนามัย 5.ชุดตรวจการตั้งครรภ์ 6.ยาบำรุงครรภ์ ตอนนี้อบรมเภสัชกรไปแล้ว 3,000 กว่าคน มีร้านยาเข้าร่วมประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศ และยังมีอีกส่วนที่รอการอนุมัติจาก สปสช. คาดว่าในอนาคตจะมีร้านยาให้บริการได้ทั่วถึงทั่วประเทศ