"อนุทิน" โวยังรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้ ไม่เคยปล่อยให้บริษัทผู้เกี่ยวข้อง "บุหรี่" เข้าพบ หวังล็อบบี้ดัน "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำให้เสียเพื่อนหลายคน ย้ำฐานะ รมว.สธ.ให้พบไม่ได้ ลั่นแม้มีคนใน ครม.หนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เชื่อไม่สำเร็จ เหตุ สธ.ไม่ยอมให้ของทำลายสุขภาพถูก กม.
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส ปี 2566 ครั้งที่ 13 จัดโดย สสส. สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และภาคีเครือข่าย
นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากมีบุหรี่มวนที่จำหน่ายและสูบได้ สิ่งที่วิตกกังวลและน่าเป็นห่วงมากคือ การมาถึงของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะมีกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่าย ก็ยังมีการสูบอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ ทั้งวัยทำงาน และที่น่าห่วงคือเด็กและเยาวชน เพราะมีการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีหลักความจริงว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่เป็นมะเร็ง ไม่มีสารอันตรายให้ร่างกายเจ็บป่วย จากข้อมูลสถิติทั้งหลายพบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 8 หมื่นคน กว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ขณะนี้ยังมีความพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งใน ครม.ก็มีคนผลักดัน แต่คิดว่าคงผลักดันไม่ผ่าน เพราะ สธ.ไม่ยอม ไม่ใช่รัฐมนตรีไม่ยอม แต่เป็นทั้งกระทรวง
"ความรับผิดชอบของ รมว.สธ. ไม่สามารถที่จะให้ข้อยกเว้นใดๆ ได้ ส่วนที่บอกว่าแล้วทีบุหรี่มวนอันตรายมากกว่ายังปล่อยให้ขายแพร่หลาย ก็ต้องร้องเพลงจงรักว่า อย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต เพราะผมไม่ได้เป็นคนอนุญาต ถ้าอยู่ในยุค 60-70 ปีก่อนก็คงไม่อนุญาตให้มีบุหรี่มวน ซึ่งจะเห็นว่าบุหรี่เป็นเรื่องปกติ แต่สังคมเปลี่ยน จึงต้องรณรงค์หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ถึงปัจจุบัน" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่ง รมว.สธ.ได้พบกับ ศ.พญ.สมศรี และศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ หลายวาระ เข้ามาขอสนับสนุนเรื่องของยาเลิกบุหรี่ให้เข้าสู่บัญชียาหลักฯ ให้หลักประกันสุขภาพฯ มีความครอบคลุม ตนก็นำเรื่องเข้าประชุม สปสช. กรรมการทุกท่านก็ยินดี ไม่มีประเด็นอะไร ทำให้เราสามารถรณรงค์ให้มีการเว้นหรือลดละเลิกการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันมีเทรนด์ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ คือบุหรี่ไฟฟ้า ศ.พญ.สมศรี และ ศ.นพ.ประกิต ยืนยันว่า คำชวนเชื่อ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพไม่จริง องค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่าอันตรายต่อสุขภาพแน่นอน
" เราไม่ต้องรอองค์การอนามัยโลกยืนยัน แม้ตัวผมเองไม่ได้เป็นแพทย์ ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ เวลาพูดกับลูกหลานก็บอกว่าตายพอกัน อันตรายพอกัน ไม่ว่ามีนิโคตินหรือไม่มี ถ้ามีการเผาผลาญความร้อนกิดขึ้น ก็เกิดคาร์บอน ควันออกมาได้ไงถ้าไม่มีการเผาผลาญ คนเชื่อก็เชื่อ คนไม่เชื่อก็ดำเนินต่อไป แต่ความเสี่ยงทางสุขภาพก็เกิด" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ในเรื่องของการทางกฎหมายเราห้าม แต่เราต้องยอมรับว่ามีช่องทางการนำเข้ามา เพราะพกพาสะดวกมาก เหมือนอุปกรณ์ของใช้ประจำตัว แต่อย่างน้อยหาที่ร้านสะดวกซื้อ ร้านทั่วไปไม่ได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มี ก็ยังถือว่ากฎหมายเรายังห้ามยังบังคับใช้ได้พอสมควร ที่เรามั่นใจคือไม่ว่ามีความพยายามอย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าตนเสียเพื่อนหลายคนจากเรื่องนี้
"บางคนเราเกรงใจมีบุญคุณ ขอให้มารับฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็เสียเพื่อนไปหลายคน เพราะบอกว่าพบไม่ได้ เป็น รมว.สธ. ต้อนรับก็ไม่ได้ ถ่ายรูปด้วยก็ไม่ได้ จะมาทำไม ข้อเสนอไม่รับพิจารณา แม้มีความพยายามมาในรูปแบบสมาคม คนเคารพนับถือกัน ก็ยังรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้ ไม่ยอมพบทั้งสิ้น" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าตนไม่สูบบุหรี่ แล้วไม่เห็นด้วยกับการสูบเสพใดๆ อย่างกัญชานโยบายตนก็ไม่ให้สูบ หากกฎหมายไม่ออก ก็มีประกาศกระทรวงควบคุมการสูบเสพที่สาธารณะ ควบคุมช่อดอก ไม่ได้บอกว่าตนไม่สูบแล้วไม่ให้ใครสูบ ห้ามนำเข้า ตนตรวจสอบเช็กกรมควบคุมโรค ปลัด สธ. ทุกคนบอกว่าไม่ต้องคิดต้องฝันเปิดช่องทางใดๆ ให้ความหวังกับสิ่งเหล่านี้ สธ.ต่อให้รัฐมนตรีบอกออกข้อความว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่น่ามีอันตรายเท่าบุหรี่มวน แล้วไม่น่าเป็นปัญหาในการเปิดให้นำเข้าบริโภคอย่างถูกกฎหมาย อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดต่อให้เราตั้งเองเขาก็ไม่ยอม
"คนที่ผลักดัน แม้จะเป็นสมาชิกผู้แทนฯ ก็แล้วแต่ อยากพูดอีกครั้งว่า อย่าได้พยายาม เป็นไปไม่ได้ และคิดว่า สธ.ยังยืนหยัดนโยบายไม่ให้มีสิ่งที่เป้นอันตรายเพิ่มเติมเข้ามา แต่เราพร้อมที่จะทำให้เกิดการเลิกอบายมุข ผมพยายามทำตามที่มีอำนาจตามกฎหมาย ปิดช่องโหว่ปิดความหวัง และพยายามช่วยเร่งร่างกฎกระทรวงครอบคลุมห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้อยู่ที่สำนักเลขาธิการ ครม. เหลืออีกไม่กี่อาทิตย์ ครม.ประชุมได้ 1-2 สัปดาห์ใน ครม.เต็มรูปแบบ จากนั้นเป็นรักษาการ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ผูกพันรัฐบาลต่อไปในอนาคต หาก ครม.รับทราบ ผมก็ลงนามทันที" นายอนุทินกล่าว
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา และประธานสมาพันธ์แห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สถานการณ์สูบบุหรี่ของประเทศไทยจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 20 กว่า% ล่าสุดแนวโน้มตัวเลขลดลงเหลือประมาณ 17.4% โดยองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าให้ลดลงถึง 15% ภายในอีกไม่กี่ปี การลดการบริโภคยาสูบองค์การอนามัยโลกระบุว่า วิชาชีพสุขภาพมีความสำคัญที่จะช่วยลดการสูบได้ ที่ผ่านมาจึงมีการตั้งสมาพันธ์และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่มาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ต้องช่วยกันขับเคลื่อนอีกมาก โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง วันนี้ต้องขอบคุณพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมเสวนาและสนับสนุนเกี่ยวกับความปลอดภัยจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพสำคัญของคนไทย และเป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่า 25 โรค ทำให้สูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าปีละ 7 หมื่นคน ภาครัฐเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากกว่า 6หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศให้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่มีภาพลักษณ์เย้ายวนใจ แต่จริงๆ ก่อให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในเยาวชนอย่างรวดเร็ว เป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนไทยอย่างมาก
ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 15-24 ปี ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีมากถึง 2.4 หมื่นราย จากที่ไม่มีเลย และการสำรวจเมื่อปี 2012 และ 2021 การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี จาก 3% เป็น 9% ใน 6 ปี เป็นภัยคุกคามก่อให้เกิดการเสพติดนิโคตินและสารเสพติดอื่นจำนวนมาก งานวิจัยเด็ก 10-19 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า กว่าครึ่งหนึ่งเกิดภาวะซึมเศร้า คนไม่เคยสูบมาก่อน พอสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนสูบประจำ พบว่า 5.4 เท่ามีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดา แนวโน้มติดทั้งสองอย่าง 7 เท่า เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า 10% หันไปใช้สิ่งเสพติดอื่น สุรา กัญชา ยาบ้า