"หมอประกิต" ย้ำไม่มีขึ้นทะเบียน "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ ชี้นิโคตินสูง 20-50 มวน ทำเลิกยาก แถมทำติดบุหรี่กว่าเดิม เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงสูบบุหรี่มวนมากกว่าคนไม่สูบ 2-4 เท่า จ่อเชิญพรรคการเมืองร่วมแสดงจุดยืน สคบ. ระบุของทะลักตามแนวชายแดน จ่อใช้กฎหมายฟอกเงินสาวจับผู้นำเข้ารายใหญ่-คนกระจาย
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส. )ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลก ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจากปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ สะท้อนว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5% ในปี 2554 เป็น 19.6% ในปี 2563 นิวซีแลนด์เด็กอายุ 14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9% ในปี 2560 เป็น 9.6% ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 8.1% ในปี 2564
“รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ อนุญาตให้เคลมว่ามีสารพิษน้อยกว่า แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามีอันตรายน้อยกว่าตามที่บริษัทบึหรี่นำมากล่าวอ้าง และยังไม่เคยมีประเทศใดขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ออสเตรเลีย ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 โดย 60% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า การจะพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ทางฝ่ายสนับสนุนพูดถึงจะส่งผลให้คนสูบบุหรี่อยู่แล้วสูบน้อยลง ซึ่งไม่จริง เพราะหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังสูบบุหรี่ธรรมดาร่วมถึง 2 ใน 3 และงานวิจัยที่ว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ก็เพราะใช้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หากใช้เองไม่มีทางเลิกสูบได้ ที่สำคัญไม่เคยพูดถึงผลกระทบอื่น อย่างคนที่ไม่สูบก็จะทำใฟ้เข้าสู่การสูบได้ องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า ปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือ ทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน
"พบว่า นักเรียนมัธยมติดบุหรี่ไฟฟ้า ตื่นมาต้องสูบโดสแรกในระยะเวลาที่เร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา ยิ่งสูบภายใน 30 นาทีหลังตื่นนอนบ่งบอกว่าติดมาก นอกจากนี้ ยังกระทบต่อภาพรวมสุขภาพของประชาชน และการควบคุมยาสูบโดยเฉพาะระดับจังหวัด ที่มีจำนวนคนน้อย ทั้งยังต้องทำงานทั้งบุหรี่ เหล้า ยาเสพติดอื่นๆ หากเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยักษ์ขึ้นมาอีกตัว ก็ยิ่งเพิ่มปัญหาเข้าไปใหญ่" ศ.นพ.ประกิตกล่าวและว่า สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จะจัดงานและเชิญพรรคการเมืองต่างๆ ถึงการแสดงจุดยืนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นเช่นไรด้วย
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ยอมรับว่าการสื่อสารถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า และย้ำว่าเป็นของผิดกฎหมาย จัดเป็นของลักลอบ ที่ห้ามนำเข้าห้ามขาย ยังมีการสื่อสารน้อยกว่า จึงต้องเร่งสื่อสารตรงนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของบริษัทยาสูบ โดยสื่อมวลชนต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง หาแนวทางการสื่อสารที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคุมการโฆษณาในสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบเพราะบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามักใช้สื่อออนไลน์และสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรมดึงดูดกลุ่มเยาวชน
ด้าน นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.ส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า กฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ มีความผิด 3 ข้อหา 1.สคบ. มีคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าด้วย และ 3.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ มีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การจับกุมต้องบังคับใช้กฎหมายร่วมกันหลายหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ที่ผ่านมาสคบ. ร่วมกับตำรวจ กรมควบคุมโรค ออกตรวจจับ โดยจับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถม 13 ครั้ง จับเท่าไรก็ไม่หมด หัวใจสำคัญคือต้องจัดการกับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้ขายที่รับมาจากรายใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก และขายในโลกออนไลน์ เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ โดยทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้ประชาชนว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมีทั้งโลหะหนัก นิโคติน และสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยลดการสูบบุหรี่มวนลง นอกจากนี้ จะเดินหน้าใช้กฎหมายฟอกเงินเพื่อดูเส้นทางการเงินเพื่อสาวให้ถึงต้นตอด้วย