xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะเสียการสื่อความ หรือ Aphasia

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กภ.เมธาพร มั่นคง นักกายภาพบำบัดระบบประสาท
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

“ภาวะเสียการสื่อความ” หรือ “Aphasia” เป็นภาวะผิดปกติด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมาย โดยภาวะนี้จะมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสาร และการใช้ภาษา ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการคิดคำพูด การออกเสียงพูด รวมถึงการอ่านหรือการเขียนร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการพูดเป็นประโยคได้ แต่อาจจะใช้พูดไม่ถูกหลักไวยากรณ์ทั้งหมด ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ โดยภาวะนี้สามารถพบได้ถึง 180,000 คนต่อปี และสามารถพบได้ถึง 25 - 40 % ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยสาเหตุของการเกิดภาวะเสียการสื่อความ ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งยังพบภาวะนี้กับผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนถึงสมอง อุบัติเหตุที่ศีรษะ โรคทางระบบประสาท เนื้องอกที่สมอง หรือการติดเชื้อที่สมอง ทำให้สมองตำแหน่ง Wernicke’s area และ Broca’s area ที่ทำหน้าที่ควบคุมการสื่อสารได้รับความเสียหาย จึงทำให้เกิดภาวะเสียการสื่อความขึ้นได้ โดยอาการของผู้ป่วยที่เกิดภาวะเสียการสื่อความ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

ภาวะบกพร่องด้านการพูด หรือ Broca’s Aphasia ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการพูด สามารถเข้าใจประโยคที่ผู้อื่นพูด รู้ความหมายของคำ แต่มีปัญหาด้านการผลิตคำพูดออกมา พูดออกมาลำบาก หรือพูดไม่ได้เลย แต่จะฟังเข้าใจ ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่เพียงประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยค หรืออาจลืมคำบางคำ ไม่สามารถพูดจนจบประโยคเป็นยาว ๆ ได้ เช่น หากผู้ป่วยชื่อพรทิพา ก็จะตอบแค่ว่า พร หรือ พา เท่านั้น

ภาวะบกพร่องด้านความเข้าใจ หรือ Wernicke’s Aphasia ผู้ป่วยจะสามารถพูดปกติ และถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด เพราะสมองส่วนการรับและประมวลข้อมูลเกิดความเสียหาย แต่สมองส่วนการสั่งการด้านการพูดปกติ โดยรับสารมาแต่ไม่สามารถตีความหมายได้ถูกว่าคืออะไร ไม่สามารถพูดตามได้เนื่องจากไม่เข้าใจว่าให้พูดอะไร การตอบไม่ตรงคำถาม การตอบกลับโดยพูดคุยคนละเรื่อง เช่น ถามว่าวันนี้กินอะไร ผู้ป่วยก็จะตอบว่าปากกา หรืออาจจะพูดประโยคที่ไม่มีความหมายขึ้นมา ทำให้คนฟังไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร และผู้ป่วยก็ไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจตนเอง

ภาวะบกพร่องด้านความเข้าใจ และด้านการพูด หรือ Global Aphasia ผู้ป่วยจะมีปัญหาทั้งด้านความเข้าใจ และด้านการพูด ผู้ป่วยจะฟังไม่รู้เรื่องและพูดไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารและรับสารได้เลย ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ นึกคำพูดออกมาได้ไม่กี่คำ เช่น ถ้าให้ผู้ป่วยทำอะไรบางอย่าง ผู้ป่วยก็อาจอยู่เฉย ๆ เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าให้ทำอะไร

ภาวะบกพร่องด้านการสื่อความ หรือ Conduction Aphasia ผู้ป่วยจะสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูด และการเขียน แต่ไม่สามารถพูดตามได้ หรือถ้าหากพูดตามจะพูดผิด มีปัญหาในการใช้คำหรือวลีซ้ำ ๆ

ภาวะบกพร่องด้านการนึกคำพูด หรือ Anomic Aphasia ผู้ป่วยจะมีภาวะบกพร่องด้านคำพูด มีปัญหานึกคำพูดไม่ออก หรือใช้คำพูดอื่น ๆ เพื่ออธิบายในสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร มักจะพูดอ้อม หรืออธิบายโดยใช้คำศัพท์อื่นแทนสิ่งที่พูด เช่น ผู้ป่วยพูดว่า “อันที่ใช้เขียน” แทนที่จะพูดคำว่า “ปากกา”

​สำหรับการรักษา “ภาวะเสียการสื่อความ” การรักษาด้านการแพทย์ โดยส่วนใหญ่ทำการรักษาตามอาการ หรือสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น การรักษาด้วยยา สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ชนิดตีบจะได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด หากมีการติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาโดยการให้ยาสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่สมอง หรือมีเนื้องอกที่สมอง การรักษาด้วยการผ่าตัด และยังมีการรักษาด้วยเครื่องมือ เช่น การกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนผ่านกะโหลกศีรษะ (tDCS) ซึ่งเป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนผ่านกะโหลกศีรษะ หรือการใช้การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะ (rTMS) เพื่อกระตุ้นที่ทำงานของสมอง การรักษาด้วยการบำบัดการพูดและภาษา เป็นการฝึกการทบทวนใช้คำ การใช้ประโยค การสร้างประโยค การเรียบเรียงประโยค หรือเป็นการถามคำถามให้ผู้ป่วยนึกคำ หรือการถาม - ตอบคำถาม รวมถึงการเรียนรู้คำศัพท์ และการออกเสียงของคำและพยัญชนะต่าง ๆ ด้านกายภาพบำบัด จะเป็นการกระตุ้นด้านการสื่อสาร เช่น ฝึกให้พูดทวนประโยค ฝึกถามตอบคำถามง่าย ๆ คำถามที่ผู้ป่วยคุ้นชิน เช่น การถามชื่อผู้ป่วย การถามถึงสิ่งของรอบ ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน หรือการฝึกให้ออกเสียง นับเลข เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและทักษะการสื่อสารของผู้ป่วย

วิธีการป้องกันการเกิด “ภาวะเสียการสื่อความ” สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองหรือเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามสาเหตุที่กล่าวข้างต้น เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การควบคุมปริมาณน้ำตาล และไขมันในร่างกาย การควบคุมความดันโลหิต เพราะเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะนี้ รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยสามารถป้องกันได้เช่นกัน

​“ภาวะเสียการสื่อความ” นั้น เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะมีปัญหาทางการสื่อสาร อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเครียด หรือภาวะซึมเศร้าได้ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้เหมือนเดิม อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ หรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้ง อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าและหดหู่ มีทัศนคติในการเข้าสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ชอบอยู่ตัวคนเดียว เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ สิ่งสำคัญคือญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วย จะต้องให้กำลังใจ และเข้าใจว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแบบนี้เพราะการทำงานของสมองนั้นมีปัญหา ไม่ควรไปเร่งเร้าให้ผู้ป่วยพูดได้เร็ว ๆ ควรต้องเรียนรู้จากผู้ป่วยว่าต้องการจะสื่อสารอะไร พยายามสื่อสารด้วยการใช้คำพูดที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย หรือใช้การสื่อสารด้วยท่าทางหรือการเขียน เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย และต้องฝึกฝนให้ผู้ป่วยได้ใช้การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารให้ดีมากยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น