รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี พัฒนา Smart NCD คลินิก ช่วยผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน หยุดยาเข้าสู่ระยะสงบได้ 4-10% ลดผู้ป่วยรายใหม่ ลดความแออัด และภาวะแทรกซ้อน
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 16,008 ราย โรคความดันโลหิตสูง 9,444 ราย ซึ่ง 2 โรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรม รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี พัฒนาโปรแกรมรักษาทางเลือกแก่ผู้ป่วย 2 โรคนี้ด้วยแนวคิด Smart NCD นำเทคโนโลยีอย่างง่ายมาช่วยแพทย์วิเคราะห์ข้อมูล ใช้ Smart Watch ติดตามกิจกรรมทางกาย ร่วมกับอุปกรณ์เจาะหาน้ำตาลในเลือดที่บ้าน หรือเครื่องวัดความดัน เชื่อมโยงข้อมูลเข้าระบบ Cloud สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกจะใช้จดข้อมูลส่งผ่านไลน์ ให้แพทย์วิเคราะห์วางแผนปรับพฤติกรรมเป็นรายบุคคล มีทีมสหวิชาชีพให้คำแนะนำปฏิบัติตัว เช่น ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ให้กำลังใจ ทำให้ปรับลดยา บางรายหายป่วยและหยุดยาได้ เป็นผลดีกับตัวผู้ป่วย ช่วยลดความแออัด รพ.
นพ.เอกพล พิศาล ผอ.รพ.บ้านตาขุน กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เข้ารับบริการใน Smart NCD Clinic ต้องผ่านการประเมินของแพทย์ก่อนว่า เป้าหมายในการรักษาจะไปได้แค่ไหน เช่น หยุดยาได้หรือไม่ จากนั้นจะทำแผนการรักษาร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย ปัจจุบันมีเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้าสู่ระยะสงบแล้ว 27 ราย จากที่เข้ารักษาที่ รพ. 695 ราย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหยุดยาได้แล้ว 177 ราย จาก 1,592 ราย โดยระยะแรกแพทย์จะทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ทั้งพยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด มีการนัดหมายทุก 1-2 สัปดาห์ ร่วมกับปรับกรอบความคิดว่า โรคนี้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต ทีมบุคลากรต้องเปิดใจรับฟังผู้ป่วยแบบเพื่อน ติดตามอาการ ให้ความรู้โภชนาการและออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานในปี 2565 ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ดูแลใน รพ.ควบคุมอาการได้ดีถึงร้อยละ 59.4 และ Remission ร้อยละ 4.7 ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควบคุมอาการได้ดี ร้อยละ 68.2 และ Remission ร้อยละ 10.4 เกิดกระบวนการส่งต่อความรู้ เกิดผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรายใหม่ลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ลดลง จากปี 2560 มีจำนวน 12 ราย ในปี 2565 ลดลงเป็น 4 ราย