xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จ่อชงงบปี 67 รวม 4.37 แสนล. เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2 พันบ. ลุ้นออก พ.ร.ฎ.ให้ "บัตรทอง" ตั้งงบ PP ทุกสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" เผยจัดทำคำของบปี 67 สธ.รวม 4.37 แสนล้านบาท พัฒนาระบบบริการสุขภาพ เน้นประชาชนศูนย์กลาง เพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2 พันบาทต่อคนต่อเดือน หวังสภาฯ เข้าใจช่วยส่งเสริมสุขภาพประชาชน ด้าน "บัตรทอง" เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัว 55 บาท เป็น 3,440 บาทต่อคน จ่อหารือประกันสังคม-กรมบัญชีกลาง ออก พ.ร.ฎ. ให้ สปสช.ตั้งและบริหารป้องกันโรคแทนแบบถูก กม.

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมนำเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวม สธ. ว่า การจัดทำคำของบปี 2567 ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ใช้เม็ดเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด เน้นยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล Health for Wealth มีสุขภาพที่ดีเพื่อความมั่งคั่งของประชาชน ปรับระบบบริการสุขภาพยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ส่งเสริมและสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการซ่อมแซมสุขภาพ ครอบคลุมการให้บริการต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ฟอกไตฟรี การรักษาโรคมะเร็งทุกที่ โดยจะขับเคลื่อนงานผ่านประเด็นหลัก 6 เรื่อง คือ เศรษฐกิจสุขภาพนวัตกรรมการแพทย์, ปรับตัวสู่สังคมสูงอายุคุณภาพ, พัฒนาบุคลากรให้เพียงพอ พร้อมรับเปลี่ยนแปลง จ้างงานรูปแบบใหม่, เรียนรู้โควิดพลิกโฉมสาธารณสุข ยืดหยุ่นต่อวิกฤตและภัยอุบัติใหม่, งานบริการระบบปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และ Digital Health เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ระบบการแพทย์ทางไกล

สำหรับคำของบประมาณปี 2567 วงเงินรวม 437,131.4 ล้านบาท เพิ่มจากคำขอปี 2566 จำนวน 13,639.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.23 แบ่งเป็น คำขอของหน่วยงานในสังกัด 10 กรม 219,652 ล้านบาท กองทุนในกำกับ 3 กองทุน 214,362 ล้านบาท และองค์การมหาชน 6 หน่วยงาน 3,117 ล้านบาท จำแนกเป็นหมวดดังนี้ งบบุคลากร 124,480 ล้านบาท งบดำเนินการ 30,824 ล้านบาท งบลงทุน 30,160 ล้านบาท งบอุดหนุน 32,708 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นๆ 1,480 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ เช่น ผู้สูงอายุ 155.58 ล้านบาท, ยาเสพติด 3,341.80 ล้านบาท, สุขภาพปฐมภูมิ/อสม. 27,606.89 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มค่าป่วยการและค่าเสี่ยงภัยรวมเป็น 2 พันบาทต่อเดือน เนื่องจากช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชน เข้าถึงหมอคนแรก ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้ถือว่าเป็นส่วนเพิ่มของงบประมาณ เพราะอยู่ในกรอบใหญ่ ที่นำไปใช้เรื่องส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนลดการเจ็บป่วย , Medical Hub วงเงิน  162.99  ล้านบาท และ Digital Health 1,248.80 ล้านบาท ซึ่งจะทำระบบคลาวด์กลางรวบรวมข้อมูล ทำให้นโยบายรักษาทุกที่ไม่มีปัญหาอีกต่อไป เข้ารับบริการสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ


“ปีงบ 2567 ในส่วนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอขอเพิ่มจากเหมาจ่ายรายหัวปี 2566 จำนวน 3,385.98 บาทต่อหัวประชากร ปี 2567 เพิ่มเป็น 3,440.51 บาทต่อหัวประชากร หรือเพิ่มราว 55 บาท เพื่อให้หน่วยบริการได้นำมาดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องสภาวะเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว เรื่องของเงินเฟ้อก็จะครอบคลุมภายใต้คำขอนี้” นายอนุทินกล่าว

ถามว่าเมื่อพิจารณางบขาลง อาจจะมีการถูกตัดงบ การเพิ่มค่าตอบแทน อสม.มั่นใจว่าจะได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ต้องได้ ถ้าไม่ได้จะเสนอทำไม โดยผู้ที่จะอนุมัติงบประมาณ คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากชาวไทย มั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านเข้าใจถึงความทุ่มเทเสียสละ ความตั้งใจที่จะทำงานของ อสม. ทุกคน ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล มั่นใจว่าจะได้รับการตอบสนอง สิ่งที่เราได้งานจาก อสม.กลับคืนมา ทำให้ความมั่นคงของระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น อสม.ไม่ใช่แค่มวลชนสุขภาพนำออกแอโรบิก แต่มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ แสดงบทบาทให้เห็นชัดว่า ได้ให้ความช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์โควิด การที่ไทยสามารถเปิดประเทศได้ ควบคุมการระบาดของโรค เปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาได้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าระบบสาธารณสุขภาพรวมทั้งหมดมันเวิร์คและต้องให้มีความมั่นคงต่อไป

ถามว่าการเพิ่มค่าตอบแทน อสม.กังวลว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นนโยบายพรรค เป็นนโยบายกระทรวง เป็นการทำงานตามปกติ


ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า คำของบประมาณในส่วนของสำนักงานปลัดฯ รวม 154,572.2 ล้านบาท นอกจากงบรายจ่ายด้านบุคลากร จะเป็นงบประมาณที่ใช้เพื่อการดูแลประชาชน โดยเฉพาะงบลงทุน นำมาใช้พัฒนาสถานพยาบาลและระบบบริการสุขภาพต่างๆ เช่น ก่อสร้างอาคารบริการ ระบบบำบัดน้ำเสีย จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงงบดำเนินการที่ใช้ในการรองรับโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนที่นำมาใช้ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ทั้งการจัดซื้อครุภัณฑ์ด้านการศึกษา การแพทย์ ยานพาหนะ และสิ่งก่อสร้าง เพื่อพัฒนาระบบการผลิตแพทย์ออกไปดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ และงบลงทุนด้านครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ อาทิ ระบบเทเลเมดิซีน ระบบข้อมูลสุขภาพ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นภาพรวม ประชาชนสามารถนำข้อมูลสุขภาพตนเองไปใช้หรือไปรับบริการได้สะดวก

เมื่อถามถึงงบ PP นอกสิทธิบัตรทองที่มีประเด็นการตีความ ในปีงบประมาณ 2567 มีการทำข้อเสนอในส่วนนี้เหมือนเดิมทุกปีหรือไม่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัด สธ. เห็นร่วมกันที่จะต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.ให้ สปสช.ดำเนินการงบประมาณ PP ครอบคลุมไปยังผู้ที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมด้วย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ได้เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการ หากเห็นชอบร่วมกันก็จะเสนอ พ.ร.ฎ.เข้า ครม.เห็นชอบ ก็สามารถออกเป็นกฎหมายได้ จะทันรัฐบาลนี้หรือไม่ ฝ่ายข้าราชการประจำจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

“เดิมทีงบส่งเสริมป้องกันโรค สปสช.ตั้งงบประมาณและใช้ดูแลครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิอยู่แล้ว ไม่เฉพาะบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2566 ราว 5,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทักท้วงเรื่องข้อกฎหมาย ก็จะมีการดำเนินการออกเป็น พ.ร.ฎ.มารองรับ ส่วนการตั้งงบ จัดสรรงบ เบิกจ่ายและบริหารจัดการก็จะเป็นแบบที่เคยทำมา ไม่กระทบการรับบริการของประชาชน โดยปีงบ 2567 งบส่วนนี้เสนอขอราว 7,000 ล้านบาท” นพ.จเด็จ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น