นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นประกาศระหว่างการแถลงนโยบายในการเปิดสมัยประชุมสภาวานนี้ (23 ม.ค.) ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้น พร้อมย้ำว่าปัญหาประชากรลดลงถือเป็นวิกฤตทางสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข “ตั้งแต่วันนี้”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้นด้วยการออกมาตรการจูงใจ เช่น เงินโบนัสและสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น แต่กระนั้นผลสำรวจก็ยังพบว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 โดยมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นจุดผกผันที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์เอาไว้ถึง 8 ปี
แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้จำนวนประชากรญี่ปุ่นยิ่งลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีค่าอายุมัธยฐาน (median age) ซึ่งหมายถึงอายุตรงกลางซึ่งแบ่งประชากรออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน อยู่ที่ 49 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโมนาโก
“ประเทศของเรากำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะตัดสินว่าสังคมจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่” คิชิดะ แถลงต่อที่ประชุมสภา
“มันคือสิ่งที่ต้องทำตั้งแต่วันนี้ เมื่อพูดถึงนโยบายกระตุ้นการเกิดและการเลี้ยงดูบุตร เราไม่สามารถรอได้อีกต่อไปแล้ว”
คิชิดะ เผยด้วยว่า รัฐบาลเตรียมเสนอแผนเพิ่มงบอุดหนุนนโยบายกระตุ้นการมีบุตรเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในเดือน มิ.ย. และจะจัดตั้งหน่วยงานด้านเด็กและครอบครัวภายในเดือน เม.ย. เพื่อเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้
ผลสำรวจโดย YuWa Population Research พบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก “จีน” และ “เกาหลีใต้” ซึ่งก็เป็นอีก 2 ชาติที่เสี่ยงเผชิญผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการลดลงของประชากรเช่นกัน
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนมีจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคนในช่วงปลายปี 2022 ลดลงราวๆ 850,000 คนจาก 1 ปีก่อนหน้า และซึ่งถือเป็นการหดตัวของประชากรครั้งแรกในรอบ 60 ปี
ที่มา : รอยเตอร์