สปสช.โต้ค้างจ่ายค่าดูแลผู้ป่วย "โควิด" ไม่ได้เหนียวหนี้ เบิกจ่ายไปแสนล้านบาท แต่ที่ยังไม่เบิกจ่ายอีกหมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานบริการจริง ถามกลับจะให้เบิกจ่ายไปได้อย่างไร ชง "อนุทิน" ขอ ครม.ขยายเวลาถึงมี.ค.นี้ รวบรวมหลักฐานเบิกจ่าย หากเกินเวลาตีเป็นหนี้ศูนย์
จากกรณีองค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า สปสช.ไม่กล้าสำรองเงินค่าบริการป้องกันเชื้อเอชไอวี การตรวจเชื้อเอชไอวีและยาป้องกันก่อนการสัมผัส (PrEP) สำหรับผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่มีการรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่ใช่คนไทยกว่า 2 พันคน สปสช.ยังไม่จ่ายเงินให้
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ขอย้ำว่าเรื่องบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้เหมือนเดิม หากสะดวกให้บริการป้องกันโรคนอกสิทธิบัตรทองก็ยังให้บริการต่อไปได้ โดยให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อนแล้วรอมาเคลียร์กันกับ สปสช. แต่บางหน่วยบริการอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจและยังไม่ชัดเจน ยังไม่อยากให้บริการ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ เราห้ามไม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับบริการก็ขอให้แจ้งมายัง สปสช. เราจะประสานจัดระบบบริการเพื่อไม่ให้รับผลกระทบ โดยสามารถโทร 1330 กด 16 เบอร์พิเศษ จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 24 ชั่วโมง ประสานให้ได้รับบริการ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่าไม่กล้าสำรองจ่ายก่อน เพราะกลัวเราเหนียวหนี้ โดยกล่าวหาว่า สปสช.ไม่ยอมจ่ายเงินค่าดูแลผู้ป่วยโรคโควิด 19 นั้น เรื่องนี้ต้องขอความเป็นธรรมให้กับสปสช.ด้วย เราไม่เคยเหนียวหนี้ ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินคืนให้สถานบริการและองค์กรที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยไปแล้วว่าแสนล้านบาท แบบนี้จะเรียกว่าเหนียวหนี้ได้อย่างไร ส่วนที่ยังไม่จ่ายอีกประมาณหมื่นล้านบาท เป็นกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการรับบริการหรือให้บริการจริง เรามีเจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามตามรายชื่อว่ามีการรับบริการหรือไม่ จำนวนหนึ่งตอบว่าไม่ได้รับบริการ กรณีนี้ สปสช.ก็ไม่สามารถจ่ายให้ได้ หรือบางกรณีได้รับอาหาร 1 มื้อบ้าง 3-4 มื้อบ้างเราก็จ่ายให้ได้ตามจริงที่มีการบริการจริง
"ตอนนี้ขึ้นปีใหม่แล้วเราจะตีเป็นศูนย์เลยก็ได้ เพราะรายจ่ายตรงนี้ใช้งบเงินกู้ ที่สปสช. ต้องมีหน้าที่รายงาน จึงไม่ควรจะล่าช้าถึงขนาดนี้ แต่เรายังรอ เพื่อให้เวลาในการหาข้อมูล รวบรวมเอกสารหลักฐานในการเบิกเงินค่าดูแลผู้ป่วยโควิด ขณะนี้ได้ทำหนังสือ ถึง รมว.สาธารณสุขเพื่อลงนามและเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบขยายเวลาจ่ายเงินสำหรับเป็นค่าดูแลผู้ป่วยโควิดให้กับหน่วยงานต่างๆ จนถึง มี.ค. 2566 หากครบระยะเวลายังไม่สามารถยืนยันการให้บริการ ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ก็จะต้องตีเป็นหนี้ศูนย์ คืนเงินกลับไป" นพ.จเด็จกล่าว