สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ ชื่นชมวัยรุ่นไทยสุดเจ๋ง ผลิตสื่อโฆษณาเตือนภัยบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ผลงาน “เลิกสูบกู้โรค” จากม.ศรีปทุม คว้ารางวัลชนะเลิศ แพทย์ยืนยัน นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสมองเด็ก-เยาวชน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 ธ.ค. 2565 ที่โรงภาพยนตร์ที่ 7 เอสเอฟ เอ็กซ์ซีเนม่า เซ็นทรัลพระราม 9 พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ประธานกรรมการที่ปรึกษาและนโยบายสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการประกวดสปอตโฆษณาของนักศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์จาก 6 สถาบัน ในหัวข้อ “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมอบรมสร้างองค์ความรู้ในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และรู้เท่าทันอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวด 6 ผลงาน มีผลงาน “เลิกสูบกู้โรค” จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้รับรางวัลชนะเลิศ ชูเนื้อหารักสุขภาพจริงต้องไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ผลงานทั้งหมดจะถูกนำไปนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดผ่านการเผยแพร่ไปยังสถานศึกษาและสื่อมวลชนท้องถิ่นทั่วประเทศ
“ขอชื่นชมเด็กและเยาวชนทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสื่อรณรงค์ที่เป็นประโยชน์และมีความเข้าใจง่าย และขอบคุณสถาบันการศึกษาทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเกริก ที่ร่วมกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในครั้งนี้ ซึ่งสามารถรับชมได้ที่สื่อสังคมออนไลน์ Facebook และ Tik Tok สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย” พญ.มธุรดา กล่าว
พญ.มธุรดา กล่าวว่า ปัจจุบันพบเห็นการสูบบุหรี่ในบริเวณสาธารณะได้ยากขึ้น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมห้ามสูบในที่สาธารณะ ที่สำคัญประชาชนเริ่มเห็นผลกระทบจากบุหรี่ และมาตรการรณรงค์ที่เข้มข้น รวมถึงมาตรการทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ส่งผลกระทบหลายด้านต่อร่างกาย เช่น พัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต ระบบหัวใจและหลอดเลือด และยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินในการดำรงชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนอีกด้วย
ด้านนายคิรากร สุนทรโชติ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หนึ่งในทีมผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงาน “เลิกสูบกู้โรค” กล่าวว่า แนวความคิดการผลิตสื่อครั้งนี้ตั้งต้นมาจากสุขภาพต้องควบคู่กับการออกกำลังกาย แต่การที่ตัวเราบอกว่ารักสุขภาพ ออกกำลังกายตลอด แต่กลับสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ เพราะแม้ว่าจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่หากยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ก็ไม่อาจทำให้เรามีสุขภาพที่ดีเต็มได้
“อยากฝากไปยังเพื่อนเยาวชน ประชาชนทุกคนว่า ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า มันไม่มีเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและยังทำลายสุขภาพอีกด้วย ถึงผมจะไม่สามารถบังคับใครไม่ให้สูบบุหรี่ได้ แต่ผมมีความหวังว่า ทุกท่านที่ได้รับชมสื่อที่ผลิตขึ้นจะได้รับความรู้สึกห่วงใยจากพวกเรา และสำหรับใครที่ยังสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วมีความคิดอยากเลิก สามารถปรึกษาสายเลิกบุหรี่ 1600 ได้นะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คนเพื่อสุขภาพที่ดีครับ” นายคิรากร กล่าว