รองโฆษกรัฐบาล ห่วงเด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าคนไทยมีความรอบรู้ทางสุขภาพ-สุขภาพแข็งแรงรอบด้าน เครือข่ายเยาวชนฯ ชง 3 ข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร หนุนคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่โรงเรียนนาหลวง กรุงเทพฯ นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตระหนักรู้ภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน จัดโดยเครือข่ายพัฒนาเยาวชนแห่งกรุงเทพมหานคร (พยก.) ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 สำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 57 ล้านคน มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 80,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี สอดคล้องกับข้อมูลผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในไทย ปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้า 13.6% การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในหลายด้าน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดและสมอง เด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยที่ร่างกายอยู่ระหว่างการเจริญเติบโตและต้องได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ การได้รับสารนิโคตินหรือสารเคมีต่าง ๆ จากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้รับผลกระทบและอาจเจ็บป่วยก่อนวัยอันควรอีกด้วย
“ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกายและจิตใจ รวมถึงการผลักดันระบบบริการสาธารณสุขที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการผลักดันให้เกิดความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการไม่ส่งเสริมให้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้านับเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องการเริ่มต้นให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีตั้งแต่อายุยังน้อย ตามแนวคิดป้องกันดีกว่ารักษาและกลุ่มคนเหล่านี้เองจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายณัฐกานต์ สังขดี ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายพัฒนาเยาวชนแห่งกรุงเทพมหานคร (พยก.)กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร 3 ข้อ 1.ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่าง 2.บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น บังคับใช้เรื่องพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะรวมถึงการกวดขันการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า 3.ประกาศนโยบายให้ทุกสถานศึกษาเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
“การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตระหนักรู้ภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องในเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาหลายแห่งได้รับข้อมูลที่ไม่รอบด้าน เช่น เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จึงไม่ก่อให้เกิดความอันตรายต่อสุขภาพ หรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารนิโคติน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นการเร่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและอายุของการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง” นายณัฐกานต์กล่าว