“Open House ธรรมศาสตร์ 2022” จัดวงเสวนา “ทิศทางการศึกษาไทย ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ตอบโจทย์โลกอนาคต” ชวนขบคิดแก้ปัญหา-ความท้าทาย ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน มองอนาคต ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษา มธ.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการศึกษาไทย ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ตอบโจทย์โลกอนาคต” ซึ่งอยู่ภายใต้กิจกรรม “เปิดบ้านธรรมศาสตร์ เมืองแห่งความยั่งยืน พื้นที่เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด THAMMASAT OPEN HOUSE 2022 EXPORE THE INFINITY” เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ได้พูดถึงปัญหาความท้าทายในระบบการศึกษาไทย รวมถึงทิศทางการศึกษาแห่งอนาคตที่ มธ. กำลังพยายามทำให้เกิดขึ้น
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า การศึกษาไทยในปัจจุบันกำลังประสบปัญหา 3 อย่าง ได้แก่ 1. คุณภาพการศึกษา ต้องยอมรับไทยมีคุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่สถิติชั่วโมงการเรียนที่เด็กต้องเรียนกลับสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน ระบบของไทยไม่สามารถสร้างทักษะเพื่อจะไปแข่งขันกับนานาประเทศได้ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปหลักสูตร วิธีการสอน โดยพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างทักษะที่จำเป็นมากขึ้น เช่น ภาษาอังกฤษ ให้เน้นการสื่อสารมากกว่าการท่องจำหลักไวยากรณ์
2. ความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือการศึกษาไทยไม่ได้ฟรีจริง โดยมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษา เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าหนังสือ ฯลฯ ซึ่งเฉลี่ยปีละ 2,000-6,000 ต่อนักเรียนหนึ่งคน ซึ่งหลายครอบครัวแบกรับต้นทุนดังกล่าวไม่ไหวเมื่อเจอปัญหาที่กระทบรายได้หรือวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษารวมไปถึงแม้จะเข้าถึงการศึกษาแต่คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกันค่อนข้างมากอีกทั้งองค์ความรู้ที่ได้ไม่เพียงพอทำให้ต้องไปเรียนพิเศษเพื่อต่อยอดการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
3. ค่านิยมในห้องเรียน จำเป็นที่จะต้องมีห้องเรียนที่มีประชาธิปไตย เพื่อปลูกฝังเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค แต่ห้องเรียนของไทยในปัจจุบันกลับเป็นไปแบบอำนาจนิยม เด็กไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก บางคนถูกลงโทษเกินขอบเขตจนละเมิดสิทธิความปลอดภัยของผู้เรียน แม้กระทั่งเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเด็กพบเห็นการทุจริตเกิดขึ้นมากมายภายในโรงเรียน ควบคู่ไปกับการที่โรงเรียนมุ่งสอนว่า โตไปไม่โกง
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Future Tales LAB กล่าวว่า ในภาพรวมของระบบการศึกษาไทยมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกันที่ได้เข้ามาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1. สังคม ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Societies) ซึ่งทำให้แนวคิดเรื่องการศึกษาหาความรู้จะไม่ถูกหยุดไว้ที่ช่วงอายุ 22 – 30 ปี แต่จะกลายเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
2. เทคโนโลยี ซึ่งได้เข้ามาทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น แต่ในบริบทประเทศไทยที่ผ่านมาแม้จะมีสถิติการใช้อินเตอร์เน็ตสูงกว่าหลายประเทศในโลก แต่ยังเป็นการใช้เพื่อเสพความบันเทิงมากกว่า การใช้เพื่อค้นคว้าหาความรู้ออนไลน์ยังมีสัดส่วนที่ไม่มาก ซึ่งจำเป็นต้องมีมากขึ้น ขณะเดียวกันอินเตอร์เน็ตยังได้สร้างองค์ความรู้แบบห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ขึ้นมาโดยตัวมันเอง กล่าวคือ ทำให้คนเลือกรับแต่สิ่งที่ตัวเองอยากรู้ ส่วนสิ่งที่ไม่อยากรู้อาจไม่มีโอกาสได้รู้
3. เศรษฐกิจภาคเอกชนมีความต้องการคนที่มีทักษะรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทโลกในปัจจุบัน รวมถึงอนาคต และ 4. คุณค่าของความคิดและความเชื่อมั่นในสังคมปัจจุบันการเรียนจบจากศาสตร์ด้านใดอาจไม่สำคัญเท่ามีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ผลสำรวจจาก World Economic Forum ระบุว่า ในอนาคตตำแหน่งงานจะหายไปกว่า 85 ล้านตำแหน่งทั่วโลกแต่จะมีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มถึง 97 ล้านตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงโมเดลการเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่ซึ่งธรรมศาสตร์มองเห็นช่องว่างในส่วนนี้จึงอยากให้นักศึกษารู้จักความชอบหรือความถนัดของตนเอง และเลือกเรียนเฉพาะเพื่อให้เพียงพอต่อการออกไปทำงานจริง แล้วใช้เวลาออกไปเจอโลกภายนอกให้มากที่สุด
รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาควรจะเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ ซึ่งเป็นโมเดลที่ มธ. พยายามพัฒนา รวมถึงได้ออกข้อบังคับใหม่คือหากนักศึกษามีการฝึกงาน สร้างนวัตกรรม ทำวิจัย ฯลฯ กับภายนอกมหาวิทยาลัย สามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเทียบโอนหน่วยกิตได้ เพราะธรรมศาสตร์เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา แม้อยู่นอกห้องเรียน และ ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
“ทักษะสำคัญกว่าความรู้ความรู้มีเยอะมากและออกมาใหม่ตลอดเวลาต่างกับทักษะซึ่งได้แก่ความสามารถในการทำอะไรให้เก่ง ให้เชี่ยวชาญ ความรู้ล้าสมัยได้ ขณะที่ทักษะนั้นจะติดตัวเราไป ซึ่งมีทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ความฝันของผมที่เคยพูดไว้ในหลายที่ หลายโอกาส คือเราอยากจะทำให้การศึกษาเปิดกว้างไปถึงรูปแบบที่ เด็กออกแบบได้ว่าตนเองอยากเรียนอะไร (Design Your Own Degree) และจบแล้วจะเป็นอะไร เพราะคนที่รู้ดีที่สุดควรเป็นตัวเด็กไม่ใช่ตัวเรา (สถานศึกษา)” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าว