xs
xsm
sm
md
lg

สะท้อนใจ “ครูเงินเดือน 3,000” แบกภาระเกินหน้าที่ ชีวิตลำเค็ญใน ร.ร.ผุพัง เรื้อรัง “ระบบการศึกษาไทย” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



...ที่ผุพังยิ่งกว่าโรงเรียนในชนบทแห่งนี้ คือ “ระบบการศึกษาไทย” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...

“ตอนนี้ผมอยู่ที่โรงเรียนบ้านนางิ้ว (ประชาสามัคคี) เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนประมาณ 46 คน บวกครู อาจารย์ด้วยก็ 50 คนนิดๆ มีครูอยู่ 5 คน นักเรียนเกือบ 100% เป็นเด็กยากจนพิเศษ

ยากจนพิเศษ ก็คือ ชาวบ้านเหมือนมาฝากอนาคตลูกไว้กับโรงเรียน เช้าพ่อแม่ก็ออกไปทำนา เด็กก็ต้องไปกินอาหารที่โรงเรียน โรงเรียนนี้มีงบค่าอาหารประมาณวันละ 900 บาท ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของนักเรียน

คือ กับข้าวทางโรงเรียนจัดการให้ตามงบประมาณ ซึ่งตกหัวนึงประมาณ 20 บาท น่าเห็นใจมากมายเลยนะครับ เพราะ ผอ.เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนึง”



นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก “โน้ส-อุดม แต้พานิช” ศิลปินเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดัง จากคลิป “เฮียดมบุกอีสาน พบขบวนการหญิงเหล็ก แห่งบ้านนางิ้ว” บนยูทูบ

ถึงจะเป็นรายการที่อัปโหลดเอาไว้ตั้งแต่ วันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับถูกหยิบมาพูดถึงบนโซเชียลฯ อีกครั้ง ในประเด็นเรื่องการสะท้อนช่องโหว่ระบบการศึกษาไทย

นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้โน้สและทีมงาน ต้องลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ ทั้งคุณครูและนักเรียน ร.ร.บ้านนางิ้ว (ประชาสามัคคี) อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูและนักเรียน รวมแล้วประมาณ 50 คน สภาพเต็มไปด้วยความเก่าและทรุดโทรมเป็นอย่างมาก
น้ำที่ไหลออกมาจากก๊อก ก็เป็นน้ำตะกอนแดงขุ่น บางวันไหล-บางวันไม่ไหล ตัวห้องน้ำก็ทรุดโทรม ไม่มีแม้แต่ประตูปิด



ส่วนตัวอาคารเรียน นอกจากเก่าและผุพังแล้ว ยังไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเอง ในการกันฝนได้อีกต่างหาก ไฟฟ้าที่ใช้งานได้ก็มีเพียงแค่ดวงเดียว กับพัดลมเก่าๆ ที่ส่งเสียงดัง

อีกหนึ่งเสียงที่ช่วยชี้ความยากแค้นของเด็กๆ ที่นั่นได้เป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น “ครูอ้อย-รัชชิดาภรณ์ สุภาษร” ผอ.โรงเรียนบ้านนางิ้ว (ประชาสามัคคี) ที่เล่าว่า ทุกวันนี้มีเด็กอยู่ 6 ห้อง ในขณะที่ครูมี 4 คน

ทุกอย่างเลยกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับ (ด้วยความรักและเห็นใจ) ส่งให้เหล่าครูต้องควบรวมหลายวิชา ผลัดกันช่วยสอนเด็กๆ ในแต่ละคาบ

ยังไม่รวม “หน้าที่จำเป็น” ที่ต้องทำเพิ่มเป็นประจำ อย่างการสลับกันไปช่วยงานแม่ครัวอีก เพื่อเตรียมอาหารให้นักเรียนในแต่ละวันด้วย



“เงินเดือน 3,000” แลกกับความพยายามอันเกินหน้าที่ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องที่น่าตกใจที่สุดอย่างนึง ท่ามกลางเรื่องเล่าจากความจริงอันสุดลำเค็ญแห่งนี้ แถมเงินนั้นยังเป็น “เงินที่ได้จากบุญผ้าป่า” ของปีที่แล้วอีกต่างหาก

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด คือ เงินก้อนนั้นกำลังจะหมดลง ทางผู้ใหญ่บ้านจึงได้แต่ช่วยสนับสนุน โดยการเอาเงินกองทุนหมู่บ้าน มาให้หยิบยืมก่อน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วน “ค่าจ้าง” ของคุณครู

สุดท้าย โน้สจึงไม่รีรอ จัดการช่วยอย่างเต็มที่ ทั้งซ่อมระบบน้ำทั่วโรงเรียน ต่อเติมทุกส่วนที่ขาดหาย สร้างห้องสมุด ซ่อมห้องพยาบาล ปรับแต่งห้องน้ำ ให้ใช้งานได้ครบ

สร้างสนามเด็กเล่น พัฒนาเล้าไก่ เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าอาหารทางโรงเรียน รวมไปถึงเดินระบบไฟให้ทั้งหมด แม้แต่ห้องครัว ก็ทิ้งไม่ได้ ต้องเติมเตาแก๊ส เปลี่ยนตู้เย็นให้ลงตัว

หรือแม้แต่การลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ให้ถึง 10 เครื่อง พร้อมกับโต๊ะและเก้าอี้เซตใหม่ ให้เด็กๆ เอาไว้ใช้งาน

และที่ทำให้เหล่าครู และ ผอ.สาวหัวใจแกร่ง กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่มากที่สุด คือ การตัดสินใจมอบเงินสนับสนุน “เดือนละ 10,000 บาท” ให้ เพื่อหนุนเงินค่าจ้างเหล่าครู ที่เคยได้จากชุมชนเพียงเดือนละ 3,000



เมื่อเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีคอมเมนต์พรั่งพรูเข้ามาขอบคุณ “ความใจบุญ” ของโน้สและทีมงาน และในอีกมุมก็ไม่ลืมสะท้อนถึง “ช่องโหว่ระบบการศึกษาไทย” ที่เข้ามาดูแลไม่ทั่วถึง จนอยากส่งเรื่องให้ถึงกระทรวงศึกษาธิการ

โดยเฉพาะประเด็น “ภาระ (อันหนักอึ้ง) จนเกินหน้าที่” ของเหล่าเรือจ้าง (คุณครูทั้งหลาย) ซึ่งนอกจากจะต้องใช้คาบสอนเด็กๆ มากกว่าปกติ เพราะบุคลากรขาดแคลนแล้ว ยังมี “กองเอกสาร” ให้ต้องแบกรับอีกต่างหาก

ช่องโหว่รูใหญ่ที่เป็นเรื่องของโครงสร้าง ซึ่งทางภาครัฐควรลงมาดูแลอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการจัดเรื่องงบประมาณ การจัดสรรกำลังคน หรือแม้แต่ทรัพยากรต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยหนุนบรรยากาศแห่งการเรียนรู้

อย่างที่ “ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต” ครูและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงระบบการศึกษา เคยช่วยสะท้อน “โรงเรียนขนาดเล็ก ในระบบการศึกษาที่ผุพัง” เอาไว้ว่า เต็มไปด้วยช่องโหว่มากมายเหลือเกิน

เมื่อโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องการครูอัตราจ้างมาเป็นกำลังเสริม แต่กลับไม่ได้รับเงินจัดสรรจากส่วนกลาง สิ่งที่โรงเรียนทำได้ ก็คือ การระดมเงินทุนด้วยตัวเอง



แต่สุดท้าย ถึงจะได้เงินจากบุญผ้าป่า หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มาช่วยหนุนได้ แต่ศักยภาพที่มีอยู่ ก็ไม่มากพออยู่ดีที่จะทำให้เกิดคำว่า “คุณภาพ” ขึ้นมาได้ เมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่

ผลที่ตามมา ก็คือ ค่าตอบแทนของครูอัตราจ้างที่น้อยมาก อย่างที่ปรากฏในสื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ และในหลายๆ ครั้ง ครูอัตราจ้างก็ไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงปิดเทอมด้วย

ทางกูรูจึงวิเคราะห์ว่า หากภาครัฐบริหารจัดการทรัพยากรใหม่ ยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปรวมกัน แล้วช่วยจัดรถรับส่งสำหรับนักเรียน

พร้อมกับจัดสรรครู ให้มีครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และหนุนเรื่องทรัพยากรการเรียนรู้ ให้ห่างไกลจากคำว่า “ขาดแคลน” ทุกคนอาจได้เห็นการศึกษาไทย “ไร้ความน่าสงสาร” ต่างจากที่เป็นอยู่

เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
ที่มา (ข้อมูล): https://bit.ly/3Fi8Pkb, https://bit.ly/3W2URsg, https://bit.ly/3D9GtWr







** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น