ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเปิดเวทีสัมมนาวิชาการ ขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงโลกปัจจุบัน ย้ำโลกยุคใหม่นอกจากการเรียนการสอนต้องปรับให้ผู้เรียนเท่าทันเทคโนโลยีแล้วต้องหล่อหลอมเรื่องของศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬาให้ผู้เรียนทุกช่วงชั้นได้เรียนรู้ด้วยถึงจะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์พร้อมออกสู่โลกการทำงาน
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่หอประชุมประภากรคอนเวนชั่นฮอลล์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการและเตรียมความพร้อมผู้บริหาร “การขับเคลื่อนการศึกษาไทย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน” โดยมี ผศ.ดร.กนกอร บุญมี อธิการบดี มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยผู้บริหารด้านการศึกษา นักศึกษาสาขาการศึกษา ในพื้นที่ภาคอีสาน เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยเผชิญการระบาดโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น พบว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานและการศึกษาของผู้เรียนมากขึ้น ภาพที่เห็นชัดคือ 1. ได้ใช้ระบบการเรียนออนไลน์มากขึ้น 2. เกิดอาชีพใหม่จากสถานการณ์ระบาดโรคช่วง 2 ปี โดยที่ประชุมเศรษฐกิจ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ระบุถึง 10 อาชีพในโลกที่จะหายไป และ 10 อาชีพที่จะเกิดใหม่ในโลก
โดยจะเริ่มเห็นแล้วว่าอาชีพในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น นักศึกษาส่วนหนึ่งผันตัวไปเป็นยูทูบเบอร์ มีระบบการค้าขายออนไลน์ การสั่งอาหารทางออนไลน์เกิดขึ้น หรือในโลกอุตสาหกรรมได้เกิด Robotic หรือใช้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนควบคุม มีการใช้ AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งในเวทีสัมมนาวิชาการด้านการศึกษาวันนี้ พบว่ามีผู้บริหาร นักศึกษาสาขาด้านการศึกษา สนใจมาร่วมงานจำนวนมาก
ดร.อรรถพลกล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากนำเสนอกับผู้ร่วมสัมมนาวันนี้ คือจะจัดการศึกษาอย่างไรให้สอดคล้องกับโลกที่ผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะโลกของอาชีพ วิธีการสอน บทบาทของผู้อำนวยการจะต้องปรับเปลี่ยนจากไดเรกเตอร์ มาเป็นการบริหารจัดการคนให้มีคุณภาพตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง และต้องสอดคล้องกับโลกการทำงานยุคปัจจุบันด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการปรับเปลี่ยนโลกของการศึกษาโลกของการประกอบวิชาชีพดังกล่าวจะมองแต่ด้านความทันสมัยของเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ ปรัชญาสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือต้องการให้บูรณาการเรื่องศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา ให้แก่ตัวผู้เรียนด้วย ถือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมของคนหรือทรัพยากรบุคคลก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง โดยเรื่องศาสนานั้นทุกศาสนาสอนให้คนมีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม สอนให้เป็นคนดี อาจเป็นการสอนสอดแทรกในวิชาการหรือกิจกรรม หรือบูรณาการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ศึกษาเรื่องของศาสนาก่อน
ด้านวัฒนธรรม ถือเป็นสิ่งจำเป็นของคนที่ต้องรู้กำพืดตน รู้ประวัติศาสตร์ของตน รู้ประวัติศาสตร์ประเทศ ส่วนที่สามด้านการกีฬา ทำให้ผู้เรียนมีร่างกายแข็งแรง มีน้ำใจนักกีฬา ยอมรับในกฎกติกา พร้อมออกไปประกอบอาชีพในโลกแห่งความเป็นจริง และส่วนสุดท้าย ด้านศิลปะ ให้ผู้เรียนรู้จักคิดสร้างสรรค์ด้านอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้นหากหลอมรวมปรัชญาทั้งสี่อย่างเข้ากับตัวบุคคล สอนในการเรียนตลอดทุกชั้นปีการศึกษา จะทำให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เสร็จแล้วจึงเติมความทันสมัย คือเทคโนโลยี AI ให้แก่ตัวผู้เรียน จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพปัจจุบันได้
“ทั้งนี้ ปรัชญาสำคัญทั้ง 4 มีในหลักสูตรแล้ว โดยแผนการศึกษาของชาติ 20 ปีที่เกิดปัญหาการขับเคลื่อนไร้ทิศทาง ทางรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ร่วมกันผลักดันแผนการศึกษาของชาติให้ไปอยู่เทียร์สองเท่ากับแผนความมั่นคง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการศึกษาของชาติมี 11 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะได้เกิดการขับเคลื่อนอย่างถูกต้อง ตามแนวทางปรับใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในที่สุด