โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มีร่องรอยหลักฐานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า “กัญชามีสรรพคุณช่วยรักษาบรรเทาโรคจิตได้” และกำลังจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ถ้ามีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังจะช่วยผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศชาติได้อย่างมาก
การรักษาโรคจิตในปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายประการ เพราะมีผลแทรกซ้อน ทำให้สมองเสียหายแบบถาวร เกิดภาวะตัวแข็ง (Extrapyramidal syndrome) เกิดอาการเคลื่อนไหวของปากและใบหน้าแบบประหลาดๆ (Tardive dyskinesia) เกิดความไม่สมดุลของกลไกทางเมทาบอริซึม เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและโรคอ้วนมากขึ้น ที่จะทำให้เป็นโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกหลายโรคตามมา [1][2]
ผู้ป่วยโรคจิตมักจะกินยาไม่ต่อเนื่อง เพราะผลแทรกซ้อนดังกล่าว ทำให้นักวิจัยในหลายประเทศ พยายามหาวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ได้ผลดีกว่าเดิม มีผลเสียน้อยกว่าเดิม เช่น การพัฒนายารักษาโรคจิตตัวใหม่ๆ ที่เรียกว่า “ยาต้านโรคจิตที่ไม่ใช่แบบเดิม” (Atypical antipsychotics) [3]
ที่น่าสนใจมาก คือ การค้นพบว่า “กัญชา” เป็นทางเลือกที่ดีอันหนึ่งในการรักษาโรคจิต โดยเฉพาะกัญชาสายพันธุ์ที่มีสาร “ซีบีดี” (CBD, cannabidiol) ปริมาณสูง ซึ่งบ้านเราเรียกว่า “กัญชง”
จึงเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับที่หลายฝ่ายในสังคมเป็นห่วงกังวลว่า การเปิดเสรีกัญชาจะทำให้มีผู้ป่วยโรคจิตมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันอย่างมาก
ร่องรอยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า “กัญชามีสรรพคุณช่วยรักษาบรรเทาโรคจิตได้”
ปี ค.ศ.1899 หรือเมื่อ 123 ปีมาแล้ว บริษัทเมิร์ค (Merck & Co.) ได้จัดทำคู่มือทางการแพทย์บรรยายสรรพคุณของตำรับยากัญชาที่ตนผลิตจำหน่ายในขณะนั้นว่า สามารถใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ เพ้อคลั่ง และเพี้ยน [4]
ปี ค.ศ.1969 หรือเมื่อ 53 ปีมาแล้ว นพ.ท็อด มิคูริยา (Tod Mikuriya) จิตแพทย์แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ค้นคว้างานวิจัยที่ตีพิมพ์ในช่วงศตวรรษที่ 18 พบว่า มีการกล่าวถึงสรรพคุณของกัญชาว่า รักษาโรคได้มากกว่า “12 กลุ่มโรค” รวมทั้ง “โรคทางจิตเวช” และการนำไปใช้ “บำบัดยาเสพติด” [5] ผลงานนี้ถูกนำเผยแพร่อย่างกว้างขวางจนทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียแก้กฎหมายสำเร็จ สามารถนำเอากัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เป็นรัฐแรก หลังจากที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลผลักดันจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด เมื่อปี ค.ศ. 1946 เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี [6]
ปี ค.ศ.1981 หรือเมื่อ 41 ปีมาแล้ว ที่นักวิจัยแห่งประเทศบราซิล ชื่อ ซาดี้ (Zuardi) ตีพิมพ์ผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าสารในกัญชา ที่ชื่อ “ซีบีดี” (CBD, Cannabidiol) มีสรรพคุณยับยั้งอาการเมาและอาการหลอนที่เกิดจากสารในกัญชาที่ชื่อ “ทีเอชซี” (THC, Tetrahydrocannabidiol) ดังนั้นจึงเกิดความคิดว่า “ซีบีดี” น่าจะมีสรรพคุณรักษาโรคจิตได้ [7] เขาจึงมุ่งศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและตีพิมพ์ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของกัญชาในการรักษาบรรเทาอาการโรคจิตและโรคทางจิตเวชอื่นๆ อีกหลายเรื่อง [8]
ผลงานของ ซาดี้ (Zuardi) กระตุ้นให้เกิดความสนใจเรื่องสรรพคุณของกัญชาในการรักษาโรคจิตและโรคทางจิตเวชอื่นๆ มากขึ้น มีนักวิจัยอีกจำนวนมากตีพิมพ์ผลงานเรื่องนี้ มีทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ในสัตว์ทดลอง และการศึกษาในคน [9] มีการค้นพบว่าคนไข้โรคจิตมักจะใช้กัญชา เพราะทำให้อาการโรคจิตเขาดีขึ้น [10] มีการจดสิทธิบัตรระบุสรรพคุณของ “ซีบีดี” ว่า มีฤทธิ์ยับยั้งอาการทางจิตจากสารอื่นๆในกัญชา มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทและต่อต้านอนุมูลอิสระ [11], บริษัทยาก็พยายามนำเอายากัญชาสังเคราะห์มาทดลองรักษาผู้ป่วยโรคจิต แต่ไม่ได้ผล และมีภาวะแทรกซ้อนมาก [12]
ปัจจุบันมีงานวิจัยแบบมาตรฐาน ที่มีการสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT, Randomized control trial) เรื่องสรรพคุณของ “ซีบีดี” ในการรักษาโรคจิต ที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วอย่างน้อยจำนวน 3 งานวิจัย งานวิจัยแรกสรุปว่า “ซีบีดี” ขนาดสูง 800 มิลลิกรัมต่อวัน มีสรรพคุณในการรักษาโรคจิตได้ดี เท่ากับยาแผนปัจจุบัน แต่มีอาการข้างเคียงน้อยกว่า [13] งานวิจัยที่สองสรุปว่า การให้ “ซีบีดี” ขนาด 1,000 มิลิกรัมต่อวัน ร่วมไปกับยาแผนปัจจุบัน จะได้ผลดีกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว [14 งานวิจัยที่สาม สรุปว่าถ้าให้เพียง 600 มิลลิกรัมต่อวัน จะไม่ได้ผล [15]
หลักฐานที่จะมีในอนาคต
นักวิจัยแห่งสถาบันจิตเวชและจิตวิทยา แห่งคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร รายงานเมื่อปีนี้นี่เอง (ค.ศ.2022) ว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยเรื่องสรรพคุณของ “ซีบีดี” ในการรักษาโรคจิต ที่กำลังดำเนินการอยู่ จำนวน 7 งานวิจัย มีการทดสอบ ทั้งในผู้ป่วยโรคจิต “รายใหม่” และ “รายเก่า”, มีการทดสอบ ทั้งการให้ “ซีบีดี” เดี่ยวๆ หรือ ให้ “ซีบีดี” ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน, มีการทดสอบ “ซีบีดี” ขนาดตั้งแต่ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ไปจนถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน [16]
ความเห็นปิดท้ายและข้อเสนอแนะ
ความสนใจของนักวิจัยทั่วโลก เรื่องสรรพคุณของ “ซีบีดี” ในการรักษาโรคจิต ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความหวังมากขึ้น แต่การวิจัยแบบมาตรฐานมักจะล่าช้า มีอุปสรรคเชิงระบบมาก เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ผู้ป่วยจะมีโอกาสได้ใช้
มีคำถามอีกประการที่ควรมีการลงทุนวิจัยหาคำตอบ เช่น
1) การใช้พืชกัญชาสายพันธุ์ที่มี “ซีบีดี” ขนาดสูง ซึ่งมีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าสามารถยับยั้งฤทธิ์ทำให้เมาของ “ทีเอชซี” ได้ จะมีสรรพคุณช่วยรักษาบรรเทาโรคจิตได้ดีเพียงใด เมื่อใช้ร่วมกันไปกับสาร “ทีเอชซี”
2) การใช้กัญชาธรรมชาติแบบรวมๆ ซึ่งมีสารต่างๆ รวมกัน ทั้งแคนาบินอยด์, เทอปีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ มากกว่า 500 ชนิด มีสรรพคุณในการรักษาโรคจิต ได้หรือไม่ เพราะมีงานวิจัยพบว่า การออกฤทธิ์ของสารเหล่านี้ร่วมกัน ทำให้การรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ได้ผลดีกว่าการใช้สารแบบเดี่ยวๆ เรียกว่า ออกฤทธิ์แบบ “เอ็นทัวราจ” (Entourage effect) [17]
เพราะถ้าได้ผลดี ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโรคจิต ที่มีจำนวนมากกว่า 333,000 คน [18] รวมทั้งญาติมิตรที่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างยากลำบากยิ่งนัก ปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาจะลดลง เพราะประชาชนมีกัญชาปลูกอยู่ในสวนหลังบ้าน และลดการผูกขาด
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทุ่มเทลงทุนศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เอกสารอ้างอิง
[1] PMID: 29409162.
[2] PMID: 26330335.
[3] PMID: 35844007.
[4] https://www.gutenberg.org/ebooks/41697
[5] PMID: 4883504.
[6] https://tinyurl.com/5n6t39zahttps://en.wikipedia.org/wiki/Legal_history_of_cannabis_in_the_United_States
[7] PMID: 6261703.
[8] PMID: 16612464.
[9] PMID: 34366924.
[10] PMID: 26781550.
[11] https://patents.google.com/patent/US6630507B1/en
[12] PMID: 22137462.
[13] PMID: 22832859.
[14] PMID: 29241357.
[15] PMID: 29619533.
[16] PMID: 34255100.
[17] PMID:31481004
[18] https://tinyurl.com/5n6t39za