จิตแพทย์ห่วง “เด็กไทย” เครียด-ซึมเศร้ามากขึ้น แนะครอบครัวเพิ่มพลังใจ เน้นทำให้เด็กเห็นคุณค่าตัวเอง มีความสามารถ ช่วยอยู่รอดรับมือปัญหาชีวิตได้ เผยเด็กเรียนรู้คุณค่าตัวเองได้แต่ตั้ง “ทารก” ให้ชื่นชมให้ความรักเมื่อทำสิ่งต่างๆ ได้ ย้ำ เลี้ยงดูบางรูปแบบทำเด็กเปราะบาง ทั้งครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายเด็ก ยาเสพติด ขาดแคลนทรัพยากร
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาเด็กไทยเผชิญความเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ว่า จากการประเมินสุขภาพจิตผ่าน www.วัดใจ.com พบเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เผชิญปัญหาความเครียด เสี่ยงภาวะซึมเศร้า โดยพบที่อายุ 10 กว่าขวบ เช่นเดียวกับการโทรเข้ามาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ก็พบอยู่ที่ 10 กว่าขวบเช่นกัน นอกจากนี้ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นยังต้องการการยอมรับ แต่กลับถูก Cyber Bullying ในออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญทำให้เครียดและกดดันได้ ขณะที่ผู้ใหญ่มักมองข้ามปัญหาเหล่านี้ในเด็ก เพราะคิดว่าความเครียด ซึมเศร้ามักเกิดในวัยทำงานที่ต้องเผชิญภาวะพิษเศรษฐกิจ ดังนั้น ครอบครัวต้องมาช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่เด็ก
เมื่อถามว่า ปกติคนเราจะมีพลังใจในการรับมือปัญหาชีวิตแตกต่างกัน จะเพิ่มพลังใจในเด็กได้อย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า การเกิดพลังใจไม่ใช่ว่ากดปุ่มแล้วเกิดขึ้นทันที พื้นฐานการมีพลังใจอยู่ที่คนๆ นั้นรู้ว่าตนเองมีสิ่งดีๆ เราคือคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้ การเห็นคุณค่าตนเองเป็นต้นทุนสำคัญ นอกจากนี้ การมีคนรอบข้าง เช่น เพื่อนที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นต้น เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำให้เรามีพลังใจ รวมถึงการมีความสามารถ เช่น เราอาจเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่วาดรูปเก่งมาก หรือมีปัญหาสุขภาพร่างกายอยู่บ้าง แต่มีทักษะเรื่องศิลปะบางอย่าง เป็นต้น สิ่งที่เป็นความสามารถของคนๆ นั้นจะทำให้เขาอยู่รอดได้ในบางภาวะที่มีข้อจำกัด
เมื่อถามว่า เด็กจะเริ่มเรียนรู้เห็นคุณค่าของตนเองได้เมื่อไร พ่อแม่ต้องช่วยอย่างไรให้เด็กรู้คุณค่าตัวเอง พญ.อัมพร กล่าวว่า จริงๆ แล้วเด็กจะเรียนรู้ตลอดเวลาว่าเขามีค่า มีความสามารถ ในทารกตัวน้อยทำอะไรไม่ได้ ร้องอุแว้อย่างเดียว เขาก็รู้ได้ว่าเขามีคุณค่า ถ้าเวลาที่ทุกข์มีคนมาปลอบโยน มาให้สิ่งที่ดับทุกข์ เช่น เด็กร้องเพราะหิว พอแม่มาป้อนนม ก็รู้สึกว่ามีความรักเกิดขึ้น มีความใส่ใจเกิดขึ้น เขามีค่านะจึงมีสิ่งนี้เกิดขึ้น หลังจากนั้นเด็กจะเริ่มเรียนรู้ที่จะมีการขยับแขนขาเนื้อตัว การทำได้ในสิ่งที่เขาประสงค์ เห็นสีหน้าท่าทางจากการชื่นชมของคนรอบข้าง เช่น เอามือเขี่ยลูกบอลได้ แม่ยิ้มแย้มดีใจและเขารู้สึกตรงกับใจตัวเอง เขาจะเรียนรู้ว่าเขาทำได้
“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการยืนได้ เดินได้ พูดได้ คุยได้ เขียนหนังสืออ่านหนังสือได้ เล่นกีฬาได้ก็จะตามมาเรื่อยๆ จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถในด้านอะไร รวมถึงการที่เขาจะได้รับความรักจากบุคคลอื่นๆ รอบข้าง ไม่เพียงเฉพาะพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด มีการปรับตัวกับคนในวงกว้างมากขึ้นได้ การเรียนรู้ความรักจากคนอื่น จะทำให้เรียนรู้ที่จะรักกลุ่มอื่นตอบกลับเป็น ถ้าช่วงปฐมวัยเด็กได้รับความรักและสแงดความรักอย่างเต็มที่จะเติบโตมาเป็นคนที่มีพลังใจเข้มแข็ง แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่เคยเสียใจหรือไม่เคยเศร้า แต่กลุ่มนี้เวลาเจอวิกฤตจะหกล้มได้และจะลุกขึ้นมาใหม่ บ่อยครั้งจะแข็งแรงกว่าเดิม เพราะรู้ว่าล้มท่าไหนจะไม่ล้มท่าเดิมอีกแล้ว” พญ.อัมพร กล่าว
ถามต่อว่า มีการศึกษาหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ที่เจอเด็กมีปัญหาความเครียด ซึมเศร้ามากขึ้น อาจมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ช่วยเสริมพลังใจให้เด็ก จึงมีความเปราะบางกว่าเด็กคนอื่น พญ.อัมพรกล่าวว่า มีการเลี้ยงดูบางรูปแบบที่ทำให้เกิดความเปราะบาง แต่ไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนที่อยู่ในการเลี้ยงดูแบบนั้นจะเปราะบางเสมอไป ในบางความอ่อนแอจะมีสื่งอื่นขึ้นมาทดแทนได้ แน่นอนว่าครอบครัวที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายเด็ก เป็นจุดเปราะบางสำคัญมาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำร้ายร่างกายอย่างเดียว แต่รวมไปถึงทำร้ายทางวาจา ทำร้ายด้วยอารมณ์ เช่น การทอดทิ้งเด็ก เพิกเฉยต่อความสนใจในเด็ก ถือเป็นการทำร้ายเช่นกัน
“การที่เด็กเป็นพยานหรือมองเห็นสิ่งที่เป็นความรุนแรงใกล้ตัวเขาหรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอีกหนึ่งความเปราะบางที่แทรกเข้ามา ปัญหายาเสพติดในครอบครัว ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรความเป็นอยู่เหล่านี้เป็นความเปราะบาง และอีกอันหนึ่งซึ่งแม้ในทฤษฎีในวิชาการพูดถึง คือ ความไม่ลงตัวของชีวิตครอบครัว เช่น ครอบครัวที่ไม่ครบถ้วน ครอบครัวที่มีลักษณะแปลกแยกจากสังคมเยอะๆ ก็จะเป็นความเปราะบางอีกรูปแบบหนึ่ง ระยะหลังก็มีกลไกทางสังคมที่รองรับช่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว