กรมสุขภาพจิต เผยน้ำท่วม "อุบลราชธานี" พบเครียดสูง 3% เสี่ยงซึมเศร้าเกือบ 4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 0.25% ภาพรวมเครียดน้อยถึงปานกลาง สะท้อนชุมชนยังเข้มแข็ง แนะใช้ "อึด ฮึด สู้" ก้าวข้ามปัญหา ขอสังคมช่วยกันดูแลจิตใจ ผ่านหลัก 3Share ยังส่งทีม MCATT ดูแลในพื้นที่ต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี นอกจากการสูญเสียทรัพย์สินและเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย โดยเฉพาะโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย (PTSD) ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตและอารมณ์นำไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้ กรมสุขภาพจิตประสานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในพื้นที่ ประเมินผลกระทบ ดูแลช่วยเหลือ และฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยใช้หลัก "อึด ฮึด สู้" ด้วยการมองด้านบวก มองเห็นทรัพยากร และสัมพันธภาพดีงามรอบตัว ที่จะสร้างและทำให้โอกาสในชีวิตปรากฏขึ้น โดย "อึด" คือ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง สงบ มั่นคง ทนต่อแรงกดดัน ควบคุม ตัวเองได้ มั่นใจว่าต้องเอาชนะปัญหาอุปสรรคและผ่านพ้นวิกฤตได้ "ฮึด" คือ มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์กดดัน มีที่มาจากการสนับสนุนของคนรอบข้าง และ "สู้" คือ ต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคปัญหา มีทักษะจัดการอารมณ์และความเครียด
นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า ขอให้สมาชิกในสังคมช่วยกันดูแลโดยใช้หลัก 3 Share หรือ 3 แนวทางการแบ่งปัน คือ แบ่งปันกำลังใจ ในสถานการณ์ที่ท้อแท้เศร้าหมอง หากมีคำพูดปลอบโยนแม้เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยในการสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นได้, แบ่งปันสิ่งดำรงชีพ โดยไม่กักตุนไว้จนเกินความจำเป็นหรือปริมาณการใช้สอย จนทำให้สังคมในภาพรวมเดือดร้อนเพราะขาดแคลน และแบ่งปันน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างหนัก รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเป็นลำดับแรก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งทางกายและทางใจจนทรุดหนักเพิ่มขึ้น
ดร.สุภาภรณ์ ศรีธัญรัตน์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 กล่าวว่า จากการออกปฏิบัติงานดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ รพ.สต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จำนวน 602 คน พบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเครียดในระดับน้อยถึงปานกลาง แสดงให้เห็นถึงความเข็มแข็งของชุมชนที่มีเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ ยังได้ประเมินเพื่อเยียวยาในจุดพักพิงทั้ง 29 แห่ง การประเมินภาวะเครียด เมื่อวันที่ 15 ต.ค. สำรวจจํานวน 5,009 คน พบว่า มีระดับเครียดสูง ร้อยละ 3.03 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 3.87 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 0.25 ซึ่งทุกรายที่พบความเสี่ยงได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจ และส่งต่อดูแลจากทีมสุขภาพจิต โดยในเขตวารินชำราบส่งต่อ รพ.วารินชําราบ และในเขตฝั่งเมือง ส่งต่อ รพ.ชุมชนใกล้บ้านต่อไป ทีม MCATT มีการพูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความรู้ในการดูแลจิตใจเบื้องต้น และเทคนิคการผ่อนคลายความเครียดแก่ทีมช่วยเหลือ เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจจากการปฏิบัติงาน