ผช.รมว.สธ เผย ผลงานกัญชา ปี 65 เห็นผล 4 ด้าน เพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วย สร้างวิจัยและนวัตกรรม คุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องกลุ่มเปราะบาง ปี 66 เน้นเสริมสร้างสมดุลของการส่งเสริมและกำกับการใช้ให้สาธารณชนปลอดภัย
วันนี้ (4พ.ย.) นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดยสรุปผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 และแนวทางการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ในปี 2566 โดยภาพรวมของการขับเคลื่อนที่ผ่านมา เน้นใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพของผู้ป่วย การพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค และการปกป้องกลุ่มเปราะบาง ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนในปี 2566 ก็ยังคงเน้นการขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นเดิม โดยบูรณาการทำงานทุกกรม กองให้เชื่อมร้อยกัน สร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการใช้และผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจและการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณชน และเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นในการขับเคลื่อน คือ การสร้างความรอบรู้ด้านกัญชา และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ให้เรายละเอียดในการดำเนินงานที่ผ่านมาของทุกกรม กองในกระทรวงสาธารณสุข “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณกรมและกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังสามารถขับเคลื่อนจนทำให้ผู้ป่วยร้อยละ 154.38 เข้าถึงยากัญชาได้ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปี 2566 นี้ ทางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จะร่วมกับเขตสุขภาพ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และกองบริหารการสาธรณสุข รวมถึงกรมวิชาการทั้งสาม คือ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิตในการจัดทำการวิจัยเพื่อขยายกลุ่มโรค และเสนอเข้าสู่หลักประกันสุขภาพ อันจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการวางแผนการวิจัยเราได้ออกแบบให้มีความหลากหลายขึ้น ทั้งการวิจัยร่วมกับต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับของยากัญชาจากประเทศไทย โดยกรมการแพทย์ได้เปิดแนวรุกวิจัยร่วมกับต่างประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (International Medical Cannabis Research Center: IMCRC) และจัดทำแพลตฟอร์มการวิจัยที่เปิดให้ทุกหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมใช้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับเนเธอแลนด์ และกำลังหารือร่วมกับมาเลเซีย ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก็จะดำเนินการวิจัยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อสนับสนุนการใช้โดยเฉพาะในหน่วยปฐมภูมิ ซึ่งในปี 2566 นี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะดำเนินการปรับสถานะยาน้ำมันเดชา จากบัญชี 3 ของบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้มาเป็นบัญชี 1 เพื่อให้สามารถสั่งจ่ายได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะการวิจัยที่ผ่านมาพบว่ายาน้ำมันเดชา ใช้ได้ผลดี และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของประชาชน และยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนนำยาดังกล่าวมาผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนและจำหน่ายให้สถานพยาบาลต่อไปได้ นอกจากงานวิจัยในระดับกรมแล้ว ในปีนี้ทางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จะร่วมกับเขตสุขภาพ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และกองบริหารการสาธารณสุข ได้จัดทำตัวชี้วัดเรื่องการจัดการความรู้และวิจัยกัญชา โดยแต่ละเขตสุขภาพจะมีงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง แต่ปัจจุบันก็มีบางเขตสุขภาพแจ้งมาว่าอาจจะมีมากกว่า 2 เรื่อง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เรามีองค์ความรู้มากขึ้นในการนำมาใช้กับผู้ป่วย”
การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกัญชาทางการแพทย์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ในผู้ป่วยที่ปลอดภัย และยังเป็นชุดข้อมูลในการเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร โดยปัจจุบันเรามียากัญชาทั้งในรูปแบบสารสกัด และยาตำรับแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านจำนวน 10 รายการ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 1 รายการ ซึ่งยาเหล่านี้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นแล้วยังให้ความสำคัญกับการยกระดับองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยให้มีความทันสมัย เพิ่มการยอมรับของผู้ป่วย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้นำยาตามองค์ความรู้ดั้งเดิมมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิผลในการรักษา เช่น การทำเป็นยาครีม ยาผงละลายน้ำ หรือการพัฒนายาเม็ดให้เกิดการแตกตัวในลำไส้ เพื่อลดผลข้างเคียงจาการระคายเคืองกระเพาะ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิผลของยาให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ในส่วนของต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการศึกษาวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและเคมีของกัญชาสายพันธุ์ไทย ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 สายพันธุ์หลัก อยู่ในระหว่างการดำเนินการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองสายพันธุ์ หกประสบความสำเร็จ ประเทศไทยก็จะมีสายพันธุ์กัญชาไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับกับต่างประเทศ ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาของประเทศ และแผนงานในปี 2566 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชาสายพันธุ์ไทยให้ภาคเอกชน
สำหรับประเด็นความห่วงใยของสาธารณชนต่อการปลดพืชกัญชาจากยาสเพติดให้โทษนั้น ทางกระทรวงได้พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ตั้งแต่ระดับชุมชน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ทำงานกับ อสม ในการให้เป็นแกนนำในการเฝ้าระวังและให้ข้อมูลกัญชาที่ถูกต้องกับผู้ป่วย รวมถึงกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิตก็ได้ติดตามผลกระทบจากการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ผ่านฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และของกรมเอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้วเรายังมีกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องกลุ่มเปราะบาง ทั้งการออกประกาศกระทรวงกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมอนามัยมีการออกกฎกระทรวงและประกาศกรมอนามัยในการควบคุมกำกับการสูบในที่สาธารณะและการนำกัญชาไปใส่ในอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ดำเนินการจัดทำชุดทดสอบแล้วทั้งสิ้น 3 ชุด ได้แก่ cannabis rapid test ใช้ทดสอบตัวอย่างว่ามีกัญชาเป็นองค์ประกอบหรือไม่ THC test kit ใช้ตรวจแยกกัญชาและกัญชง และ test kann ใช้ตรวจวัดปริมาณ THC ในสารสกัดและน้ำมันกัญชาที่ 0.2% ต่อน้ำหนัก และยังขยายเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ และปีที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้ออกสำรวจปริมาณ THC, CBD และสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กัญชา และได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในปีหน้า เราจะทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดให้มากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค”
.
นายแพทย์ประพนธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ว่า “ในปี 2566 เราจะเน้นเรื่องการสร้างความสมดุลของการใช้และความปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการในท้องตลาด ที่จะนำข้อกฎหมายมาบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันการสร้างความรอบรู้ให้ผู้บริโภคและผู้ป่วยก็จะดำเนินการควบคู่กัน โดยจะเตรียมการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิดประเทศ ที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มขึ้น”