วันนี้ (25 ต.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร และประชุมผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้นำไปเป็นแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และได้แก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ เตรียมนำเสนอต่อรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อเห็นชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติภายในวันที่ 31 ต.ค.65 ต่อไป
ในปัจจุบันระบบการรายงานและการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ได้รายงานผ่านระบบ API และ EPI-Net แยกตามสังกัด เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยสำนักอนามัยจะนำไปดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 กลายพันธุ์/โรคไข้หวัดนก ในวันที่ 21-22 ธ.ค. 65
สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในระยะนี้ มี 6 กลุ่มโรค ประกอบด้วย
1. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ซึ่งทั่วโลกและประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโควิด-19 และผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้เน้นเฝ้าระวัง Sentinel ตรวจจับการระบาดของโรคในกลุ่มเสี่ยง ติดตามสายพันธุ์กลายพันธุ์ และรณรงค์เพื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือนต่อไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยหนัก
2. โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ทั่วโลกมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง สำหรับประเทศไทย เน้นสื่อสารให้ความรู้ในการป้องกันตนเองของกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานให้บริการ ทั้งในสถานบันเทิง สถานบริการ และก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
3. โรคไข้เลือดออก ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิต ซึ่งปัญหาที่พบในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก คือการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะ และภาชนะเหลือใช้ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก แนวทางการแก้ไข คือ 1) ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง ตามหลัก 5 ป 2) จัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น การรณรงค์ตามกิจกรรมจิตอาสา รณรงค์ BIG CLEANING WEEK โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน และภาคีเครือข่าย 3) สื่อสารความเสี่ยง ทำประชาคมในชุมชน ชี้แจงสถานการณ์ ให้สุขศึกษาและกำหนดมาตรการร่วมกัน และ 4) สร้างการมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการสิ่งแวดล้อม และขยะชิ้นใหญ่ รวมถึงการให้ประชาชนมีความตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกและความรุนแรงของโรค อาทิ ถ้ามีไข้สูง กินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ตระหนักว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตพร้อมการประชาสัมพันธ์การจัดการลูกน้ำยุงลาย ( 5 ป.) อย่างต่อเนื่อง
4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 23 ต.ค.65 เปรียบเทียบกับปี 2564 มัธยฐานปี 2560-2564 ซึ่งในเดือน ส.ค.65 มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากปี 64 แต่ขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
5. โรคมือ เท้า ปาก ข้อมูลการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในสถานศึกษาตั้งแต่ มิ.ย.65 - ปัจจุบัน มีผู้ป่วยรวม 102 คน
6. โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือน ส.ค.65 มีจำนวน 1,011 ราย ก.ย.65 มีจำนวน 2,686 ราย และ 1 ต.ค.65 – 23 ต.ค.65 มีจำนวน 1,389 ราย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเรื่องการรณรงค์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของกทม. เพื่อให้กลุ่ม 608 ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้มีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อได้ง่าย เด็ก และผู้สูงอายุ สวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะและสถานที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากผู้อื่นและป้องกันกันแพร่เชื้อของตนเองไปสู่ที่สาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้อีกด้วย