xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจอ XBB 2 ราย ชี้แพร่เร็วระดับ 6 หลบภูมิสูงสุด อาการไม่รุนแรง ยังไม่พบ BQ.1.1 ลูกหลานรุ่นล่าสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์เผยเจอลูกหลาน "โอมิครอน" ประปราย ภาพรวมยังเป็น BA.5 ครองไทย ส่วน XBB เจอ 2 ราย มาจากฮ่องกงและสิงคโปร์ แพร่เร็วระดับ 6 หลบภูมิสูงสุด สิงคโปร์ยันไม่ได้รุนแรงขึ้น ส่วน BQ.1.1 ลูกหลานรุ่นล่าสุด ยังไม่พบในไทย ส่วน BF.7 มี 2 ราย แจงเคยพบและรายงานแล้วในกลุ่ม BA.5 แต่ GISAID จัดกลุ่มใหม่ ส่วน BN.1 เจอ 3 ราย ขอ รพ.ตรวจ RT-PCR และส่งตรวจสายพันธุ์ผู้ป่วย 8 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 8-14 ต.ค. มีการตรวจสายพันธุ์ 128 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็น BA.4/BA.5 จำนวน 126 ราย และ BA.2 จำนวน 2 ราย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ระบุสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลสายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่โอมิครอนมีการแตกลูกหลาน ก็จะมีสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดที่ขอให้แต่ละประเทศช่วยกันติดตาม เช่น ลูกหลาน BA.5 อย่าง BF.7 BF.14 หรือ BQ.1 , ลูกหลานของ BA.2.75 อย่าง BJ.1 หรือ BA.4.6 , สายพันธุ์ลูกผสม XBB เป็นต้น

"เวลานี้มีการกลายพันธุ์ของโอมิครอนไปมากมาย ยิ่งกลายพันธุ์ตำแหน่งมากเท่าไร โอกาสที่จะเพิ่มจำนวนหรือแพร่ก็ยิ่งเยอะขึ้น หากกลายพันธุ์มากกว่า 6 ตำแหน่งขึ้นไป เทียบกับตัวเดิมอาจจะเร็วกว่าเป็น 100% หรือมากกว่า 7 ตำแหน่งสำคัญอาจเร็วกว่า 297% นักวิทยาศาสตร์จึงนำมากำหนดว่า จะสนใจตัวไหนมากน้อยกว่ากัน และมีการแบ่งระดับด้วย อย่างระดับ 4 เช่น BA.4.6, BF.7 ระดับ 5 เช่น BA.2.75.2 , BQ.1 ก็จะเยอะไปอีก และระดับ 6 เช่น BQ.1.1 หรือ XBB ก็จำนวนยิ่งเพิ่มขึ้นเร็ว" นพ.ศุภกิจกล่าว


นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับ BA.2.75 ในไทยรายงาน GISAID ซึ่งวิเคราะห์และยืนยันแล้ว 19 ราย ส่วนอีก 11 ราย GISAID ยังต้องวิเคราะห์ ถ้าใช่ทั้งหมดก็คือไทยมีประมาณ 30 ราย เมื่อเทียบกับ BA.5 ถือว่ายังไม่เยอะ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสม XBB พบในไทย 2 ราย คือ รายแรก เป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง เมื่อป่วยมา รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ไม่มีอาการอะไรมาก หายดีแล้วหลังกักตัวครบ กรมควบคุมโรคจะไปสอบสวนโรคต่อว่าใครกลุ่มเสี่ยง และรายที่สองพบใกล้เคียงกัน เป็นคนไทยอายุ 49 ปี กลับมาจากสิงคโปร์ ไป รพ.เดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก อาการไม่มากหายดีแล้ว

BF.7 ที่พบในแล็บมากขึ้นในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อเทียบ BA ทั่วไป สามารถเติบโตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ก็ต้องจับตาดูว่าจะมาแทนที่หรือไม่ เป็นลูกหลาน BA.5.2.1 บ้านเรา 2 ราย คือ รายแรกเป็นชายอายุ 16 ปี ไม่ได้เดินทางต่างประเทศ เจอใน กทม. เก็บตัวอย่างส่ง GISAID ต้น ก.ย. แต่ตอนนั้นระบุเป็น BA.5 เพิ่งมาจัดเป็น BF.7 และรายที่สอง เป็นหญิงไทยอายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ทราบว่าติดใน รพ.หรือที่อื่น เก็บต้วอย่างตั้งแต่ต้น ก.ย. ส่งไป GISAID วันที่ 4 ต.ค. เพิ่งถูกจัดชั้นเป็น BF.7 ทั้งคู่อาการไม่รุนแรง แม้รายที่สองจะเป็นกลุ่ม 608 จึงยังไม่ต้องตกใจ แม้มี BF.7 บ้านเรากี่ราย ถ้าอาการไม่รุนแรงก็ไม่มีปัญหา ทั่วโลกรายงาน BF.7 ประมาณ 1.3 หมื่นราย พวกนี้เป็นตระกูลโอมิครอน พื้นฐานคือแพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง

"ตามปกติเมื่อประเทศไทยถอดรหัสพันธุกรรมเสร็จส่งไปยัง GISAID ซึ่งเมื่อรับไปตอนแรกอาจจะบอกว่าเป็น BA.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีข้อมูลทั่วโลกมากขึ้น วิเคราะห์แล้วปรากฏว่าไม่ใช่ ก็เรียกเป็นตัวอื่น ก็จะกำหนดเรียกสิ่งที่เราส่งไปเป็นตัวใหม่ บางทีเราส่งไปเดือนที่แล้ว ทำไมเพิ่งมาประกาศว่าเพิ่งมีในประเทศไทย จริงๆ ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นเขากำหนดเป็นอย่างอื่น ถือเป็นพลวัตที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด" นพ.ศุภกิจกล่าว


นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เรายังเจอ BN.1 ซึ่งก็คือ BA.2.75.5.1 ในไทย ซึ่ง GISAID ยืนยันแล้ว 3 รายแรก ส่วนอีก 4 รายกำลังวิเคราะห์ สำหรับ BQ.1.1 ยังไม่มีในประเทศไทย ที่น่าสนใจคือตัวนี้เพิ่มจำนวนค่อนข้างเร็ว อาจเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ เป็นลูกหลานรุ่นล่าสุด ทั่วโลกยังรายงานแค่พันกว่ารายใน GISAID ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่อะไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปตกใจ เพราะยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เรื่องความรุนแรง อย่างสิงคโปร์ที่รายงานสายพันธุ์ XBB จำนวนมากก็ยืนยันว่า คนไข้หนักที่เพิ่มในสิงคโปร์ยังเป็นไปตามสัดส่วนผู้ป่วยที่เยอะขึ้น หมายถึงตัวมันไม่ได้รุนแรงขึ้น

สำหรับเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน ที่กังวลมากที่สุด คือ XBB เป็นตัวแรก รองลงมาคือ BQ.1.1 ตามด้วย BN.1 และ BF.7 อย่างไรก็ตามเป็นการสันนิษฐานตามจำนวนที่รายงานกับตำแหน่งกลายพันธุ์ ยังต้องติดตามสถานการณ์ในความเป็นจริง ทั้งนี้ เริ่มมีสายพันธุ์ย่อยปรากฏให้เห็นจำนวนหนึ่ง อย่าเพิ่งไปตกใจอะไร ตระกูลโอมิครอนไม่ค่อยมีความรุนแรง แม้อาจติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนอาจเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการขอให้ตรวจ จะได้ระวังตัวเองไม่ไปแพร่เชื้อ เพราะการแพร่เชื้อเยอะจะมีโอกาสกลายพันธุ์สูงขึ้น มาตรการที่มียังใช้ได้ เข้มงวดใส่หน้ากากเวลาไปพบปะผู้คน ไปในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิด ดูแลมือให้สะอาดเสมอ ประเทศเราทำมาตรการค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อยากให้ทำต่อไปเป็นสุขอนามัยที่ช่วยป้องกันติดเชื้อ วัคซีนยังมีพอ ขอให้กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ฉีดหรือยังไม่ได้เข็มสามมารับ เพราะคนเสียชีวิตยังมีจากการไม่รับเข็มกระตุ้น หรือหากฉีดเข็มสามและสี่นานเกิน 4-6 เดือน ก็มารับเพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

ด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาวเจอคนคล้ายอาการไข้หวัดมากขึ้น เบื้องต้นถ้ามีอาการให้ตรวจ ATK ก่อนพบแพทย์ จะได้รักษาอย่างถูกต้อง ส่วนขณะนี้แม้เราตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้น เราขอความร่วมมือ รพ.ผ่านเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ให้ประสานงาน เลือกเก็บกลุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจ RT-PCR และสายพันธุ์ คือ ผู้ที่มีอาการรุนแรงเสียชีวิต กลับจากต่างประเทศแล้วป่วย ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ภูมิต้านทานบกพร่อง รับยากดภูมิต้านทานหรือโรคภูมิต้านทานตนเอง เช่น SLE เป็นต้น กลุ่มที่รับวัคซีนช่วง 3 เดือนแล้วป่วยโควิด และบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสรับเชื้อปริมาณมาก

ถามถึงกรณีการจัดงานที่ จ.สมุทรปราการมีคนร่วมงานจำนวนมาก เป็นไปได้จะมีการแพร่เชื้อโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กิจกรรมใดที่มีคนรวมตัวมาก หากเป็นไปได้ให้ตรวจ ATK ใกล้เวลาร่วมงาน มาตรการจำเป็น คือ ใส่หน้ากาก ป้องกันแพร่เชื้อต่างๆ ได้ ทั้งหวัด ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้คนบอกป่วยไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าโอมิครอน ก็ใช้มาตรการป้องกันเดียวกัน เราไม่อยากห้าม เพราะเศรษฐกิจต้องคำนึงไปคู่กัน อะไรป้องกันได้ควรทำ คงไม่ใช่ไปสั่งห้ามสั่งเลิก ไม่ใช่มาตรการที่ถูกต้องในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น