xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อ ตร.คลั่งเหลือรักษา 6 ราย แม่ผู้ก่อเหตุจิตใจดีขึ้น เปิดศูนย์เด็กเล็กยังต้องใช้เวลาก้าวข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยผู้บาดเจ็บเหตุ "หนองบัวลำภู" เหลือ 6 ราย เด็ก 3 รายรู้สึกตัวดี ส่วนผู้ใหญ่รอกายภาพเพิ่มเติม กลุ่มกระทบตรง 345 คน ดูแลจิตใจแล้ว 336 คน เผย 3 วันจัดกิจกรรมคืนรอยยิ้มเด็ก ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศชุมชนสดใสขึ้น รองรับเปิดเทอม ส่วนเปิดศูนย์เด็กเล็กต้องใช้เวลานานถึงก้าวข้าม เล็งจัดครบรอบ 50 วัน และ 100 วัน ส่วนแม่ผู้ก่อเหตุจิตใจดีขึ้น จากก่อนหน้าที่กลัว ตกใจ ฝันร้าย

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวความคืบหน้าการดูแลเหตุความรุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้เหลือผู้บาดเจ็บรักษาใน รพ. 6 ราย คือ รพ.อุดรธานี 3 ราย และ รพ.หนองบัวลำภู 3 ราย แบ่งเป็นเด็ก 3 ราย และผู้ใหญ่ 3 ราย โดยเด็กทั้งหมดรู้สึกตัวดี มี 1 ราย ที่สามารถเดินได้แล้ว ส่วนอีก 2 คนรู้ตัวดีและจะมีการเริ่มฝึกกายภาพบำบัด ในส่วนของเด็กถือว่าคลายความกังวลไปได้เยอะ โดยการดูแลรักษาร่างกายและจิตใจจะต้องควบคู่กันไป สำหรับผู้ใหญ่ที่บาดเจ็บที่ช่องท้อง ลำไส้ทะลุ และขาหักนั้น ขณะนี้หายใจได้เอง อาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่บาดเจ็บที่ศีรษะก็หายใจได้เองแล้ว เหลือกายภาพบำบัด และผู้ที่บาดเจ็บที่กระดูกต้นคอยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ภาพรวมไม่มีอะไรแย่ลง อาการคงที่ รอกายภาพบำบัดเช่นกัน ทั้งหมดถือว่าอยู่ในการดูแลของแพทย์

ด้าน พญ.อัมพร กล่าวว่า การดูแลด้านจิตใจได้รับการติดตามโดยทีม MCATT อย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มที่รับบาดเจ็บโดยตรง ผู้รอดชีวิต ผู้อยู่ในเหตุการณ์ และญาติผู้สูญเสีย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 345 คน ทีมสุขภาพจิตร่วมกับพื้นที่ลงเยียวยาจิตใจ โดยสามารถปฐมพยาบาลทางใจและติดตามเบื้องต้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 98% คือ 336 คน อีกกลุ่ม คือ ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์อย่างใกล้ชิดในพื้นที่ ต.อุทัยสวรรค์ นักเรียนในโรงเรียนที่ผู้ก่อเหตุรุกไปถึง ซึ่งมี 2 โรงเรียนที่ต้องดูแล ประมวลแล้วมี 5,636 คน ทีมงานทยอยเยี่ยมบ้านเชิงรุกดูแลแล้ว 447 ราย ซึ่งไม่ได้ต้องเยี่ยมบ้านทุกราย เพราะมีเครือข่ายเพื่อนบ้าน และมี อสม.ช่วยสอดส่อง มองหา และส่งต่อในการรักษา

พญ.อัมพรกล่าวว่า ในการดูแลพบว่า ผู้นำชุมชนก็อยู่ร่วมด้วยช่วยกัน มีหลักการทักษะสื่อสารที่ดี ช่วยลดความตระหนก ชี้ทิศทางการเดินหน้าชุมชน ทำให้ปัญหาหลายอย่างคลี่คลายได้ดี ถือเป็นพลังใจเข้มแข็งระดับชุมชนในการช่วยเหลือกัน เราพยายามทำให้เด็กทุกคนกลับไปใช้ชีวิตปกติ ผู้ใหญ่ก็ต้องใช้ชีวิตเดินหน้าได้ เยียวยาผู้รับผลกระทบ ฟื้นฟูชุมชน ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ เปิดเทอมต้น พ.ย.นี้ ขณะนี้มีทีมจิตอาสาหลายส่วนแสดงความจำนงเข้าไปช่วยให้บรรยากาศเปิดเทอม เปิดชุมชน สดใสมากขึ้น และยังมีเครือข่ายต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่มาจัดกิจกรรมสร้างความสุขคืนรอยยิ้มให้เด็กๆ เช่น การละเล่นในเด็กประถม ศิลปะ วาดภาพ เล่านิทาน เด็กโตก็มีเรื่องการแข่งกีฬา อย่างที่โรงเรียนบ้านท่าอุทัยเป็นุดคุกคามรุนแรง ภาพความสะพรึงกลัวก็หายไป


"รอยยิ้มของเด็กๆ ได้เปลี่ยนบรรยากาศความตระหนกกลัวที่ผู้ใหญ่ทำอะไรไม่ถูก ให้คลายความกังวลลง ผู้ใหญ่ก็มาร่วมเล่นสนุกกับกิจกรรมด้วย ซึ่งช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่า บรรยากาศในชุมชนเปลี่ยนไป จากวันแรกเด็กกลัวๆ กล้าๆ มาบ้างไม่มาบ้าง วันที่สองเด็กมาเยอะขึ้น และวันที่สามมาเต็มที่ แต่จะมีการประเมินว่า เด็กคนไหนต้องประเมินเฝ้าระวังพิเศษ เช่น ยังมีการแยกตัว ไม่เต็มที่ จะมีทีมเข้าไปดูแล รวมถึงดูกลุ่มเครือญาติผู้ปกครองว่าใครต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยความพร้อมที่จะกลับมาเรียน คือ เด็กปรากฏในพื้นที่นั้นด้วยความผ่อนคลาย รอยยิ้ม เป็นไปตามบุคลิกที่สมวัย ไม่ได้ถูกบังคับมา เปิดเทอมแล้วไม่มีใครปรากฏแสดงถึงความไม่พร้อม" พญ.อัมพรกล่าว

เมื่อถามถึงการกลับมาเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พญ.อัมพรกล่าวว่า ถือเป็นจุดที่เจ็บปวดที่สุด การปรับตัวต้องใช้เวลายาวนานกว่า ละมุนละม่อมกว่า และไม่ได้ดูแค่ความพร้อมของเด็ก แต่ต้องทั้งชุมชน นอกจากกิจกรรมการเล่น ยังต้องจัดกิจกรรมกลุ่มต่างๆ พิธีกรรมที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้รู้สึกมีจิตเมตตาต่อกัน ทำสิ่งที่งดงามด้านจิตใจอาจต้องเกิดขึ้นมากกว่าทำบุญหรือจิตอาสาในพื้นที่สักระยะ รวมถึงมีพื้นที่ชั่วคราวดูแลเด็กเล็ก ซึ่งแกนนำชุมชนหารือลูกบ้านผู้ปกครองเด็ก ว่าจะใช้พื้นที่ส่วนไหนชั่วคราวและนานแค่ไหน ชุมชนพร้อมกลับพื้นที่ศูนย์เด็กเล็กแค่ไหน ต้องเลือกร่วมกันของชุมชน โดยหลักการสุขภาพจิตแล้ว ถ้ากลับไปที่เดิมได้จะถือว่าเป็นการก้ามข้ามเหตุการณ์ โดยระหว่างนี้มีการส่งทีมดูแลเรื่องพัฒนาการเด็ก

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจของคุณแม่ผู้ก่อเหตุ พญ.อัมพรกล่าวว่า จริงๆ คุณแม่ผู้ก่อเหตุก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมของชุมชนแต่เดิมและเจอะเจอกัน แต่ช่วงเกิดเหตุมีความชุลมุนและมีแรงกดดันจากคำถาม จากความรู้สึกต่างๆ ค่อนข้างเยอะ จนวันที่มีพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ก็คิดว่าจะไม่ไปร่วม แต่รู้สึกไม่ดีที่จะไม่ร่วมอยากจะแสดงความขอโทษ การฝ่าฝูงชนแล้วมีสื่อมารุมเร้าอาจทำให้อารมณ์ที่ท่วมท้นสื่อผิดๆ ถูกๆ และทำให้ไม่สบายใจ จึงให้ถ่ายทอดผ่านคลิป คุณแม่จึงแยกตัวไปดูแลจิตใจตัวเองสักระยะ สภาพจิตใจถือว่าดีขึ้น และมีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์กับญาติ เพื่อนฝูง รับรู้ความเป็นไปของชุมชนต่อเนื่อง ภาพรวมดีขึ้นเยอะ จากตอนแรกมีกลัว ฝันร้าย ตกใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเหตุการณ์ ส่วนชุมชน ระยะแรกเป็นระยะตระหนก ไปไม่เป็น บางคนเศร้าอย่างเดียว บางคนเศร้าปนโกรธ ระยะนี้บรรยากาศการรับฟังเข้าใจกันและกันมีมากขึ้น ซึ่งตนมีโอกาสพูดคุยกับผู้สูญเสียที่เป็นตาและยายของเด็กที่เสียชีวิต หลักศาสนาก็ทำให้เข้มแข็งขึ้นเยอะ แม้กลับไปใกล้เหตุการณ์จะรู้สึกใจหาย แต่ก็ผ่อนคลายลงไม่ได้คิดอาฆาตใคร แต่ก็เล่าให้ฟังว่า ยังมีคนบ่นคนโกรธอยู่บ้าง แต่เบาลงไปเยอะ ทั้งสองฝ่ายมีการเจอกันเป็นระยะ แต่ไม่ได้คลุกคลีตีโมงกันมาก

ถามถึงระยะเวลาของการจัดงานเกี่ยวกับเด็กที่สูญเสีย พญ.อัมพรกล่าวว่า วันครบรอบการรำลึก อย่างประเพณีจะมี 50 วัน 100 วัน ช่วงเวลานั้นชุมชนก็จะมีประเพณีจัดงานต่างๆ ขึ้นมา เท่าที่ทราบมีการพูดถึงจัดงาน 50 วัน ว่าจะทำอะไรบ้าง และ 100 วันก้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีแน่ๆ มิติจิตใจเรายังมองยาวไปถึงการครบรอบปีของการสูญเสีย จุดนั้นจะมีความสะเทือนใจ ท่วมท้นในความรู้สึกขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อผ่านไปแล้วส่วนใหญ่จะค่อยๆ คลี่คลาย ยกเว้นมีการเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งการจัดงานครบรอจพิธีกรรมทางศาสนาประเพณีเป็นกลไกทางจิตวิทยา ทุกคนได้ร่วมใจในสิ่งที่รักผูกพันเดียวกัน รู้สึกร่วมกัน แสดงออกถึงความทุกข์ไปด้วยกัน เห็นอกเห้นใจกัน เป็นก้าวสำคัญของการปรับตัวและก้าวข้ามเหตุการณ์ไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น