xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู 7 คน พ้นขีดอันตราย วางแนวทางฟื้นฟู 3 ระยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า ผู้บาดเจ็บทุกคนอาการปลอดภัย พ้นขีดอันตราย จากนี้ไปจะฟื้นฟูร่างกาย ทางกายภาพและจิตใจให้เป็นปกติมากที่สุด ส่วนเด็กเล็ก 3 คน ที่มีอาการรุนแรงที่ศีรษะ ได้รับรายงานจากแพทย์ทางสมองว่ามีโอกาสมากที่จะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิม

สำหรับภารกิจวันแรกที่ได้รับแจ้งเหตุ ความสำคัญอันดับแรกคือ การช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บให้ปลอดภัย โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีแพทย์ผ่าตัดสมอง 2 คน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ เป็นผู้ใหญ่ 2 คน เด็ก 2 คน

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชี้แจงกรณีการส่งศพ 37 ราย ไปชันสูตร ที่มีรายงานว่าส่งชันสูตรล่าช้า ว่า เป็นการวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายต้องมีความพร้อมทั้งต้นทาง และปลายทาง คือโรงพยาบาลอุดรธานี รวมทั้งการประสานทีมแพทย์ที่เดินทางมาจากหลายสถานที่ให้มีความพร้อม เตรียมอุปกรณ์ ขั้นตอนทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้น 10.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม

ขณะที่นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานความคืบหน้าในแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็น

กลุ่มผู้เสียชีวิต 37 ราย ในการชันสูตรศพ ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย วิชาชีพ ให้มีความรวดเร็วเพื่อให้ครอบครัวนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา เจ้าหน้าที่ภู้ภัยระดมมาทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดมแพทย์นิติเวชมาจากหลายจังหวัด เช่น จ. เลย ลำปาง เพชรบูรณ์ สกลนคร

กลุ่มผู้บาดเจ็บ 10 คน ในจำนวนนี้ 3 คน เดินทางกลับบ้านแล้ว ส่วนอีก 5 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู และอีก 2 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอุดรธานี

สรุปอาการผู้บาดเจ็บ 7 คน แพทย์มีความพอใจ แต่ต้องเฝ้าดูอาการแทรกซ้อน จนปลอดภัย

- เด็กชายวัย 3 ขวบ มีอาการบาดเจ็บที่สมอง แพทย์ผ่าตัด ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว ล่าสุด ดูอาการในห้องไอซียู

- เด็กชายวัย 4 ขวบ ผ่าตัดสมอง ทำศัลยกรรม เกิดภาวะสมองบวม ผ่าตัดรอบ 2 ลดอาการสมองบวมได้ แพทย์พอใจอาการ 80%

- หญิงอายุ 56 ปี ได้รับบาดเจ็บที่สมอง อยู่ระหว่างฝึกหายใจเอง

- หญิงอายุ 42 ปี บาดเจ็บบริเวณช่องท้อง ผ่าตัดลำไส้เล็กทะลุ ผ่าตัดเรียบร้อย หายใจได้เอง

- เด็กหญิงวัย 12 ปี อาการดีขึ้น ลูกของรายที่ 4 ได้ย้ายไปอยู่กับแม่ จิตใจดีขึ้น

- เด็กวัย 3 ขวบ บาดเจ็บที่ศีรษะ สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจ พูดคุยรู้เรื่อง ชูสองนิ้วได้ แสดงให้เห็นว่ากำลังใจดี

- ผู้ป่วยชาย บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ต้นคอ ทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟู

ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตทำงานเชิงรุกวางแผนฟื้นฟูจิตใจ 3 ระยะ โดยระยะแรก ดำเนินการใน 3 วันแรก การดูแลทุกครอบครัวทันที 37 ครอบครัว และจะดูแลรายบุคคลในแต่ละครอบครัว ภายในเวลาสองสัปดาห์ ระยะที่สอง เป็นการดูแลต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เริ่มมีแผลใจ มีความทุกข์ ความเศร้าโศกที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ที่แต่ละครอบครัวต้องเผชิญ เริ่มมองเห็นผลกระทบในชุมชน ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (ทีม MCATT) เดินเยี่ยมแต่ละครอบครัว และระยะที่สาม เป็นการดูแลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน หรือนานกว่านั้น ทำความเข้าใจให้พื้นที่ร่วมดูแล ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจจะส่งต่อและระวังต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น กลุ่มทางตรงที่ได้รับผลกระทบ เป็นเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 60 คน กลุ่มไม่ใช่ญาติสายตรง เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ 6,500 คน มีเด็กในสองโรงเรียนรับรู้ข่าวอีก 129 คน ขยายกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล และประชาชนในจังหวัด หมายถึงประชาชนทั้งประทศ ที่รับรู้ข่าว สามารถช่วยกันข้ามสถานการณ์นี้ไปให้ได้