xs
xsm
sm
md
lg

วางแผนดูแลจิตใจเหตุ "หนองบัวลำภู" 3 ระยะ กระทบกว่า 7 พันคน เสี่ยงรุนแรง 10 กว่าคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิตวางแผนดูแลจิตใจเหตุรุนแรงหนองบัวลำภู 3 ระยะ มีผู้รับผลกระทบเกือบ 7 พันคน พร้อมดูแลจิตใจแม่ผู้ก่อเหตุ หลังถูกชุมชนขับไล่ เผยกลุ่มเสี่ยงป่วยทางใจรุนแรง 10 กว่าราย ปรับตัวไม่ได้อยากทำร้ายตัวเอง กินไม่ได้นอนไม่หลับ อีก 10 ราย เริ่มเกิดอาการ PTSD จิตแพทย์เข้าดูแลแล้ว เร่งชันสูตรจิตใจป้องกันเกิดเหตุรุนแรงอีก

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวความคืบหน้าการปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู ว่า การดูแลช่วยเหลือนอกจากให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแล้ว เราวางแผนดำเนินการ 3 ระยะ คือ 1.ระยะเริ่มแรก ช่วง 3 วันแรก เราเริ่มดูแลดูแลทุกครอบครัวทันที ขณะนี้มีครอบครัวผู้รับผลกระทบทางตรง 37 ครอบครัว ได้รับการดูแลรายบุคคลให้ครบถ้วนใน 2 สัปดาห์นี้ 2.ระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ยังดูแลต่อเนื่องในแง่มุมจิตใจที่จะมีแผลใจ เจ็บปวด และความทุกข์ปรากฏมากขึ้นตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ความเศร้าโศกที่ดูยุ่งเหยิงจะหลายเป็นความเศร้าโศกที่โดดเดี่ยว ตรงนี้ต้องประกบ ทีม MCATT จึงจะอยู่ในพื้นที่ มีศูนย์เยียวยาในชุมชน กระจายติดตั้งให้ช่วยเหลือได้ง่ายที่สุด และมีการทำงานเชิงรุกเดินไปเยี่ยมบ้าน และ 3.การดูแลต่อเนื่องถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยจะกระจายทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล โดยรายที่มีปัญหาสำคัญจะมีการส่งต่อดูแลเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มผู้รับผลกระทบทางตรง มี 1.ผู้บาดเจ็บและผู้รอดชีวิตใกล้ชิด มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 60 คน 2.กลุ่มที่ไม่ใช่ญาติสายตรงของผู้บาดเจ็บเสียชีวิต แต่อยู่ในตำบลอุทัยสวรรค์ มีจำนวน 6,500 คน เด็กใน 2 โรงเรียนใกล้ที่เกิดเหตุที่รับรู้ข่าวจำนวน 129 คน กลุ่มนี้เรากำลังขยายกำลังลงไปดูแล และ 3.กลุ่มที่ได้รับข่าวสารทั้งภายในจังหวัดหรือทั้งประเทศ ก็เอาความรู้ความเข้าใจช่วยกันดูแลให้ก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ สำหรับกรณีที่มีการหวาดกลัวไม่กล้าให้ลูกหลานไปเรียนนั้น อาจจะต้องมีการยืดหยุ่น ครูก็ทำความเข้าใจ อาจจะหยุดเรียนไปสักระยะ แล้วทำกิจกรรมในสังคมอย่างอื่นแทน ทั้งนี้กรมฯ จะเข้าไปทำความเข้าใจกับครูทั้งจังหวัดด้วย

เมื่อถามถึงกรณีแม่ของผู้ก่อเหตุถูกคนในชุมชนขับไล่ ต้องทำความเข้าใจอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า แม่และครอบครัวผู้ก่อเหตุ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงด้านจิตใจและการปรับตัว ทีมเราดูแลใกล้ชิดตั้งแต่แรกเริ่ม มีการเฝ้าระวังปัญหาจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่มีแรงกดดันต่อครอบครัวนี้ เตรียมทางเลือกให้ครอบครัวนี้ในการปรับตัวอยู่กับสถานการณ์และก้าวข้ามไปได้ วันนี้ชัดเจนไม่มีใครในครอบครัวนั้นต้องการให้เกิดเหตุขึ้น ขณะที่เราเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบ ครอบครัวนี้ก็เป้นอีกครอบครัวที่เจ็บปวดด้วย เราก็ดูแลเตรียมการให้การดูแลเยียวยาจิตใจด้วย ซึ่งการแยกออกจากสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก เนื่องจากผลกระทบจากความไม่เข้าใจและความโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ช่วงแรกจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวนั้นยิ่งขึ้น ตัวเขาเองก็เศร้าเสียใจ การอยุ่สิ่งแวดล้อมเดิมที่ย้ำเตือนปัญหา จะเร้าความรุนแรงง่ายขึ้น แต่คนทุกคนจะมีความผูกพันถิ่นที่อยู่และเพื่อนบ้านตัวเอง การปรับตัวปรับใจกับการย้ายไปอยู่จุดอื่นสักระยะอาจต้องใช้เวลาบ้าง การอยู่ในชุมชนเราต้องเข้าไปช่วยประคับประคองดูแล แต่สักระยะก็เป้นไปได้ว่าครอบครัวอาจจะพร้อมขยับขยายไปอยู่สักระยะจนกว่าทุกอย่างจะฟื้นคืนตัวดีขึ้น


ถามว่าคนในสังคมและชุมชนใกล้ชิดผู้เสียหายจะมีส่วนช่วยหรือปฏิบัติตัวอย่างไรให้กลุ่มคนที่เผชิญเหตุผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ พญ.อัมพรกล่าวว่า สำคัญเริ่มต้นคือประคับประคองจิตใจกันให้เป็น การปลอบโยนให้เป็น รับฟัง ใส่ใจทางอารมณ์ แต่ต้องไม่ขยี้ถาม ซักไซ้ไล่เรียง หรือตำหนิกล่าวโทษ จากนี้ก็ต้องเสนอความช่วยเหลือพยายามดึงให้เกิดประโยชน์ของใช้ชีวิตที่เดินหน้าต่อไปได้ มีเวลาร่วมกันทำกิจกรรมตามประเพณี รวมถึงผู้ใหญ่ต่างๆ ลงไปเยี่ยมเยียนก็ช่วยสภาพจิตใจได้ ในช่วงนี้สิ่งที่อาจจะเจอได้ในผู้สูญเสีย เนื่องจากมีพิธีการ งานศพ คนมารวมตัวกัน อาจจะเจอภาวะหายใจหอบถี่ เหนื่อย แขนขาจีบจากความเครียดพุ่งสูง คนที่อยู่ใกล้ชิดสามารถช่วยให้ผู้สูญเสียตั้งหลัก หายใจลึกๆ หรือใช้กระดาษ A4 ทำเป็นกรวยครอบไว้สักพัก เพื่อให้หายใจช้าลง แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หรือบางคนอาจจะมีภาวะถดถอยทางจิตใจ อาจจะมีพฤติกรรมกรีดร้อง หรือมีท่าทีคล้ายกับผู้ที่จากไป ซึ่งจะโน้มนำให้เกิดอุปาทานหมู่ได้ หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ขออย่ามุงดู แต่ให้ประคองผู้มีอาการออกมาให้อยู่ที่สงบ แล้วอาการจะดีขึ้น และคนรอบข้างก็จะไม่เกิดอาการทางจิตใจร่วม

ถามว่ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังสภาพจิตใจเป็นพิเศษมีมากน้อยแค่ไหน พญ.อัมพรกล่าวว่า วันแรกๆ ทุกคนที่รับผลกระทบทางตรงมีประมาณ 170 คนถือว่าเสี่ยงเยอะ แต่ผ่าน 3 วันนี้ไปสถานการณ์เริ่มคลายตัวลง จึงเหลือกลุ่มสุ่มเสี่ยงรุนแรงอยู่ที่หลักสิบกว่าคน มีบางรายยังร้องไห้เสียใจมาก บางคนคิดว่าสูญเสียรุนแรง คิดว่าปรับตัวไม่ได้อยากทำร้ายตัวเอง ก็ได้รับการดูแลแล้ว กลุ่มรองลงมา คือ กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีปัญหาสุขภาพกายเพิ่มมากขึ้น มีประมาณ 10 ราย แต่ทุกรายเจอจิตแพทย์แล้ว ทั้งนี้ บางรายเริ่มเกิด PTSD ฝันร้าย เกิดภาพติดตา คิดวนเวียน นอนไม่หลับ บางรายเกิดความขัดแย้งในครอบครัว จากความสูญเสีย

เมื่อถามว่า เนื่องจากมีเหตุการณ์กราดยิงเกิดหลายครั้ง เวลาใกล้กัน กังวลว่าจะเป็นการลอกเลียนและเกิดเหตุเช่นนี้อีก พญ.อัมพร กล่าวว่า ก่อนระบาดของโรคโควิด 19 จะพบเรื่องความก้าวร้าวรุนแรง เรื่องความเครียดของสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังระบาดมา 2 ปีกว่า ชัดว่าแนวโน้มเรื่องนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งมีการเฝ้าระวังกันอยู่ และหวังว่าจะสามารถป้องกันหรือหยุดมันให้ได้มากที่สุด จากข้อมูลความรุนแรงในอดีตกับครั้งนี้ที่เราได้เริ่มทำการวิเคราะห์ หรือเป็นการชันสูตรทางด้านจิตใจ แกะรอยทั้งประเด็นแง่มุมของสังคม แง่มุมของจิตใจ เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงมีอะไรบ้าง ซึ่งดำเนินการแล้ว และต้องใช้เวลานานในการชันสูตร เพราะต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งตอบไม่ได้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน เพราะบางเรื่องที่เป็นความเจ็บปวดบางครั้งจะมีความเร้นลับของบางเรื่องอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้เสมอในเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่า 1.มีเรื่องสารเสพติด 2.เรื่องอาวุธ และ 3.ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องของสุขภาพจิต จะเป็นตัวที่เชื่อมโยง 2 ปัญหาแรก เข้าถึงกันจึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรง เราต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน เพื่อป้องกันการเลียนแบบ ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “กราดยิง” รวมถึงการพูดถึงเหตุการณ์นี้ ในระยะนี้อาจอ้างอิงว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดหนองบัวลำภู” แต่อีกสักระยะหนึ่ง เราไม่อยากให้หนองบัวลำภูอยู่กับชื่อนี้และเจ็บปวดไปตลอด จึงค่อยๆ ปรับคำนี้ว่าเป็น “เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ ...”

"เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันนี้ สิ่งที่ต้องป้องปรามให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ คือ 1.ยาเสพติด ตอนนี้หลายพื้นที่ตื่นตัว ลงไปเอกซเรย์แต่ละชุมชนว่ามีผู้ติดยาเสพติดมากน้อยแค่ไหน ได้รับการดูแลไม่ลงตัวอย่างไร จะได้แก้ไขรักษา 2.ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งการระบาดของโควิดมีปัญหาขาดยาได้ง่าย มีข้อจำกัดในการรักษา และ 3. ปัญหาความสัมพันธ์ ที่มักเป็นฟางเส้นสุดท้าย ต้องสร้างความเข้าใจ และปรับตัวได้ของทุกกลุ่ม ดังนั้น กลไกทางจิตเวชต้องเข้าไปช่วยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะสถานศึกษา ที่ทำงาน กลไกกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย ที่จะต้องมีมิติด้านสุขภาพจิตไปร่วมจัดการด้วย ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมต้องปรับตัวเพื่อช่วยลดความรุนแรง" พญ.อัมพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น