สธ.เผย ด.ช. 3 ขวบเหยื่อรุนแรง "หนองบัวลำภู" หายใจเองได้ดี พูดเป็นคำๆ ได้ เตรียมย้ายออกจากไอซียู ส่วน ด.ช.4 ขวบสมองบวมลด อาการดีขึ้น พบกลุ่มเสี่ยงสูงด้านจิตใเพิ่มเป็น 260 คน เดินหน้าดูแลเยียวยาต่อเนื่องหลังพระราชทานเพลิงถึง 3 เดือน ให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ ด้านแม่ผู้ก่อเหตุเสียใจ กราบขอโทษการกระทำของลูกชาย ขอจิตใจดีขึ้นจะไปกราบขอโทษทุกคน
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าการดูแลจิตใจเหตุการณ์รุนแรงพื้นที่หนองบัวลำภู ว่า ผู้บาดเจ็บมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยผู้ที่รักษาใน รพ.ศูนย์อุดรธานี 2 ราย อาการดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ โดยเด็กชายอายุ 3 ขวบที่อยู่ในไอซียูเมื่อมีอาการไข้ วันนี้ไข้ลดลง การรับรู้ต่างๆ ดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ก็รู้ตัวดี สามารถขยับแขนทั้ง 2 ข้างได้ตามคำบอก ส่วน รพ.หนองบัวลำภูอีก 5 ราย ซึ่งจำนวนนี้มีเด็กชาย 2 คน ก็มีข่าวดี โดยหนึ่งคนคือเด็กชายอายุ 3 ขวบสามารถหายใจเองได้ดี พูดคุยเป็นคำๆ ได้ เช่น บ้าน นม หิว เป็นต้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัญหา ก็เตรียมย้ายออกจากไอซียูได้ในเร็ววัน ส่วนเด็กชายอีกรายอายุ 4 ขวบ ที่สมองบวมสองวันก่อน หลังผ่าตัดลดสมองบวมแล้วอาการก็ดีขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับทุกรายรับอาการดีขึ้น
ส่วนการดูแลด้านจิตใจ วันนี้จะมีการพระราชทานเพลิงศพ เป็นโอกาสหลอมรวมแรงใจพี่น้องในชุมชน เพื่อนบ้าน เครือญาติเข้ามาช่วยกัน ถือเป็นภาพที่ดี พิธีกรรมต่างๆ เป็นการเยียวยาทางสังคม ให้ผู้สูญเสียมีจุดมุ่งหมายมีทิศทาง ทำให้ทุกคนเดินหน้าต่อ หลังพิธีเสร็จสิ้น เป็นจังหวะเปลี่ยนผ่าน ว่าต้องทำอะไรต่อ ก่อนหน้านี้ทีมสุขภาพจิตลงไปดูแลทุกครอบครัวที่เกี่ยวข้อง ทีมจะเข้าไปดูแลเยียวยาเป็นรายบุคคล ตรวจประเมินแต่ละคนว่ามีผลกระทบทางจิตใจมากน้อย รุนแรง เรื้อรังแค่ไหน ออกแบบการติดตามเป็นรายบุคคลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จะมุ่งดูแลในกลุ่มสีแดงเป็นพิเศษ กลุ่มของผู้รับผลกระทบวงในหรือผลกระทบทางตรงที่เสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ผู้สูญเสียโดยตรง ผู้รับบาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์ ญาติใกล้ชิดของการสูญเสีย เมื่อวานประเมินผู้เสี่ยงสูงกลุ่มนี้ 170 คน ผ่านไป 1 วัน พบเพิ่มเป็น 260 คน แต่ไม่ได้มีข้อจำกัดในการดูแล มีหลายทีมงานและอาสาสมัครมาเยียวยา นอกจากนี้ จะดูแลรายรอบออกไป เช่น อบต. กู้ภัย ครู ชุมชนรายรอบที่เกิดเหตุ โรงเรียนสองแห่งใกล้ที่เกิดเหตุ จะทำกลุ่มการประเมินและสังเกต ออกแบบการดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องในระยะยาวในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ซึ่งหลังจาก 3 เดือนจะมีทะเบียนรายที่อาจมีอาการรุนแรงสูง ปัญหาจิตใจเรื้อรัง ส่วนที่มีการเดินทางโยกย้ายก็จะมีการดูแลส่งต่อให้ตลอด
พญ.อัมพรกล่าวว่า สำหรับแม่ของผู้ก่อเหตุเรามีทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลด้วย ส่วนกระแสข่าวที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเจ้าของเหตุการณ์กังวลใจ เช่น คุกคามครอบครัวผู้ก่อเหตุ หรือปัญหาการเข้าไปรุมเร้าตั้งข้อสงสัยจากครอบครัวผู้ก่อเหตุ เป็นแรงส่วนหนึ่งให้คุณแม่ผู้ก่อเหตุบอกเล่ากับทีมเยียวยาจิตใจ และประสงค์อยากสื่อสารถึงความเสียใจ และขอโทษต่อเหตุการณ์ ซึ่งได้อนุญาตให้ถ่ายคลิปมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวนี้บอกเล่าว่าสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกคุกคามตามที่เป็นข่าว มีกำลังใจจากเพื่อนบ้าน ยังห่วงใยดูแลกันยังดำเนินต่อไป ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังเสมอ คือ การสนใจใคร่รู้ การกระจายข่าวต่อกันของสื่อและประชาชน อาจปลุกเร้าปัญหายิ่งขึ้นได้ ย้ำว่าทั้งมิติวิชาการและจิตวิทยา ผลลัพธ์ที่จะตามมาว่า การเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเหตุผล เป้นแก่นแกนทำให้ครอบครัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเดินหน้าต่อไป ใช้ชีวิตปกติสุขในชุมชนของตนเองได้
พญ.อัมพรกล่าวอีกว่า ส่วนการชันสูตรทางจิตใจให้เข้าใจที่มา โอกาส และปัญหาจากความรุนแรงในครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ในอนาคตเริ่มดำเนินการแล้ว ได้รับความร่วมมืออย่างดีในผู้เกี่ยวข้อง แต่กลไกนี้ใช้เวลาทำงานค่อนข้างนาน อาจหลักหลายเดือนหรือหลักปี แต่นักวิชาการจะหยิบยกเอาทุกประเด็นที่มีนัยต่อการป้องกันและแก้ไข มาสู่กลไกการปฏิบัติโดยไม่รอผลสรุป
สำหรับแม่ของผู้ก่อเหตุอัดคลิปวีดีโอ เพื่อขอโทษและสื่อสารว่า "สวัสดีพ่อแม่พี่น้องทุกคน วันนี้แม่ไม่ได้ไปร่วมงานด้วย เพราะวันนี้แม่ก็เหนื่อยมากทางด้านจิตใจเหนื่อย กราบขอโทษในการกระทำของลูกชายในครั้งนี้ด้วย แม่เสียใจมาก เสียใจมากๆ กราบขอโทษด้วย แม่จะไปอยู่ ให้จิตใจแม่ดีขึ้นกว่านี้แล้วจะไปกราบขอโทษทุกๆ คนขอโทษด้วย"