สธ.มอบอำนาจ สสจ.ลงนามถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ.เมื่อพร้อม ทั้งการรับครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ สินทรัพย์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และบุคลากร โดยเฉพาะ พกส.และลูกจ้าง 9 พันคน ต้องลงนามรับรองการจ้างก่อน หากยังติดขัดการจ้าง สธ.จะต่อสัญญาจนกว่าจะถ่ายโอนได้
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง วันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า สธ.เห็นด้วยกับแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่จะมีการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต. ให้กับ อบจ.บริหารจัดการ โดยจะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพประชาชน และดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หากเกิดข้อติดขัดในกระบวนการต่างๆ สธ.ยินดีช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นพ.สุระ กล่าวต่อว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งปลัด สธ.วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ในวันที่ 3 ต.ค. 2565 มอบอำนาจในการถ่ายโอนภารกิจและอำนาจในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกับ อบจ. ซึ่งจะดำเนินการถ่ายโอนได้เมื่อเอกสารต่างๆ มีความพร้อม ทั้งเอกสารด้านครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ สินทรัพย์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างเงินบำรุง ประมาณ 9 พันคน ต้องให้ อบจ.ลงนามรับรองการจ้างต่อจาก สธ.ก่อน หากพร้อมครบทุกด้านแล้ว สสจ.สามารถลงนามถ่ายโอนได้ ส่วน อบจ. ที่ยังติดขัดเรื่องการจ้างบุคลากรกลุ่มนี้ สธ.จะต่อสัญญาจ้างและยังคงปฏิบัติงานต่อไปจนกว่า อบจ.จะดำเนินการเรื่องจ้างงานเรียบร้อย พร้อมลงนามถ่ายโอน จึงจะสิ้นสุดสัญญากับ สธ.
สำหรับการบริการด้านรักษาพยาบาล ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จะมีการสนับสนุน ยา เวชภัณฑ์ และจัดบริการลักษณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน พร้อมทั้งให้ สสจ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการถ่ายโอน รพ.สต. เพื่อเป็นช่องทางรับข้อร้องเรียนจากประชาชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย