สธ.ยันพร้อมถ่ายโอน รพ.สต. 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,829 คน ไปยัง อบจ. ตามมติ ครม. ตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่าน ย้ำยังดูแลสุขภาพประชาชนตามเดิม
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จาก สธ.ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า สธ.เห็นด้วยกับหลักการการกระจายอำนาจ และมีการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.ใน 49 จังหวัด ไปยัง อบจ. ตามมติเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันที่ 15 มี.ค 2565 และวันที่ 26 ก.ค. 2565 โดยมี สอน.และ รพ.สต.ที่จะถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,829 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการ 11,992 ราย และการจ้างงานอื่น 9,837 ราย แบ่งเป็น สายงานบริการทางการแพทย์ 13,034 ราย คิดเป็น 59.7% สายสนับสนุนวิชาชีพและสายสนับสนุนงานบริหาร 8,795 ราย คิดเป็น 40.3% โดย ครม.ยังอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนรวม 5,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ รพ.สต.ที่ประสงค์ถ่ายโอนจำนวน 3,264 แห่ง คิดเป็น 47.5% จาก รพ.สต.ทั้งหมด 6,872 แห่งใน 49 จังหวัด และคิดเป็น 33.39% ของ รพ.สต. 9,775 แห่งทั้งประเทศ โดยมี รพ.สต.ที่โอนย้ายบุคลากรและเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมดกว่า 75% โอนย้ายบุคลากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง 21% โอนย้ายบุคลากรน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ประมาณ 2.4% และไม่มีบุคลากรสมัครใจโอนย้าย ประมาณ 1.13% หากบุคลากรมีข้อติดขัดหรือไม่พร้อมที่จะถ่ายโอน สธ.จะยังให้การดูแลตามเดิม โดยหลังถ่ายโอน รพ.สต.ไปแล้ว งบประมาณต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ.ทั้งหมด
“เพื่อให้การถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สธ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกระบวนการในการถ่ายโอนทั้งบุคลากร ทรัพย์สิน และภารกิจการบริการ อย่างใกล้ชิด รวมถึงแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆ ยืนยันว่าแม้จะมีการถ่ายโอนภารกิจไปให้หน่วยงานของท้องถิ่นแล้ว แต่ประชาชนจะยังได้รับการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง เนื่องจากบุคลากรของรพ.สต.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม รวมถึงยังมีระบบส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปได้ตามปกติ” นพ.สุระกล่าว