xs
xsm
sm
md
lg

บุคลากร รพ.สต.กว่า 9 พันคนเสี่ยงตกงานหลังถ่ายโอนให้ท้องถิ่น 1 ต.ค. เหตุ สธ.จ้างต่อไม่ได้ ต้องรอหลักเกณฑ์ อบจ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยหลังถ่ายโอน รพ.สต. 3.2 พันแห่งใน 49 จังหวัดไปให้ อบจ. 1 ต.ค.นี้ กลุ่มพนักงานกระทรวง จ้างเหมาและลูกจ้างชั่วคราวกว่า 9 พันคน สธ.จ้างงานต่อไม่ได้ ขัดระเบียบงบประมาณ ต้องรอหลักเกณฑ์จ้างงานจาก อบจ.ต่อ ย้ำ ปชช.ยังได้รับดูแลสุขภาพ 5 มิติตามเดิม หากไม่ได้รับความสะดวกให้แจ้ง สสจ.พื้นที่ตัวเอง

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,264 แห่ง บุคลากรรวม 21,879 คน ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 49 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ สธ.มีคณะทำงานดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และงบประมาณ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบุคลากรที่จะต้องโอนย้ายไปสังกัด อบจ. แยกตามประเภทการจ้างงาน พบว่า เป็นข้าราชการ 11,552 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4,751 คน จ้างเหมาบริการ 4,443 คน ลูกจ้างชั่วคราว 408 คน ลูกจ้างประจำ 23 คน และพนักงานราชการ 8 คน ซึ่งในส่วนของพนักงาน สธ. จ้างเหมาบริการ และลูกจ้างชั่วคราว รวมกว่า 9 พันคน เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจแล้ว สธ.จะไม่สามารถจ้างงานต่อได้ เนื่องจากจะขัดกับระเบียบงบประมาณ จึงต้องรอหลักเกณฑ์ของ อบจ.ในการจ้างงานกลุ่มนี้

นพ.สุระกล่าวต่อว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจ สธ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกระบวนการในการถ่ายโอนทั้งด้านบุคลากร ทรัพย์สิน และภารกิจการบริการ โดยเฉพาะกรณีการจ้างงานบุคลากรกว่า 9 พันคนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จะประสานกับทาง อปท.ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการประชาชน ส่วนบุคลากรที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน จะมีหนังสือแจ้งหน่วยงานเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงาน โดยจังหวัดที่มีบุคลากรไม่ประสงค์ถ่ายโอนขอให้แสดงความจำนงเลือกหน่วยงานเพื่อไปปฏิบัติงาน เมื่อสำนักงานปลัด สธ.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว จะเสนอ อ.ก.พ.สป. และ อ.ก.พ.กระทรวง พิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังไปยังหน่วยงานอื่นตามความประสงค์ และจัดทำคำสั่งย้ายบุคลากรต่อไป

“ยืนยันว่า หลังการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต. 3,264 แห่งให้แก่ อบจ.ทั้ง 49 แห่งแล้ว ยังต้องมีการจัดบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้ง 5 มิติ คือ รักษาพยาบาลเบื้องต้น ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะมีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หากประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ สามารถแจ้งต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ได้” นพ.สุระกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น