สปสช.แจง “โควิด” หลังเป็นโรคประจำถิ่น ยังรักษาฟรีตามสิทธิสุขภาพ เล็งยกเลิกระบบ HI หลังปรับมาสู่ระบบผู้ป่วยนอก เผยปี 66 ใช้งบปกติรักษา คำนวณแล้วต้องเพิ่ม 1 พันกว่า ล. งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มอีก 100 บาทต่อคน เป็น 3,900 บาทต่อหัว เร่งศึกษาเบิกจ่ายผู้ป่วยในโควิดเข้าระบบปกติ DRG ยังชดเชยผลข้างเคียงวัคซีนตามเดิม
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดจะได้รับการดูแลตามสิทธิสุขภาพของตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่ละกองทุนก็ต้องเข้ามาดูแล ทั้งนี้ บอร์ด สปสช.ประชุมครั้งล่าสุด ยกเลิกการออกหน่วยตรวจ ATK ของสถานพยาบาลนอกระบบ แต่ประชาชนที่มีความเสี่ยง มีข้อบ่งชี้ มีอาการสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือรับแจก ATK ฟรีเหมือนเดิมผ่านเครือข่ายร้านยาตามที่กำหนด ตรงนี้น่าจะยกเลิกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ให้บริการ เพียงแต่ สปสช.ในฐานะผู้ดูแลกองทุนก็จะตามไปจ่ายเงินให้
จากนี้อาจจะยกเลิกระบบการรักษาที่บ้าน (HI) เนื่องจากปัจจุบันโรคไม่รุนแรง ประชาชนหันมารักษาแบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ด้วย ซึ่ง สปสช.มีความพร้อม โดยเตรียมมาตรการทางการเงินให้สอดคล้องกับบริการที่เปลี่ยนไป โดยปีงบประมาณ 2565 เหลือเวลาอีก 3 เดือน หากประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่นวันที่ 1 ก.ค. 2565 ก็จะยังใช้งบที่ได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ แต่ต้องดูว่าจะเพียงพอหรือไม่
ส่วนปีงบประมาณ 2566 เป็นการใช้งบปกติ ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มการดูแลรักษาโรคโควิดเข้าไปแล้วประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท จะส่งผลให้งบรายหัวเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 3,800 บาทต่อคน เพิ่มเป็นประมาณ 3,900 บาทต่อคน เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิดในภาวะปกติ
“ส่วนการเบิกจ่ายกำลังให้ทีมวิชาการดูอยู่ เพราะจากนี้ถ้าโควิดเข้าระบบผู้ป่วยในก็อยากให้เบิกจ่ายตามระบบปกติ แต่ที่ผ่านมาเราเบิกจ่ายแบบไม่ปกติ เช่น จ่ายวันละ 1-2 พันบาท ซึ่งจริงๆ ในการดูแลผู้ป่วยในจะมีระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ซึ่งให้ทีมช่วยดูอยู่ รพ.จะได้ไม่ต้องไปทำระบบการเบิกใหม่ให้วุ่นวาย เพราะการเบิกตามชิ้นงานต้องมีการตรวจสอบก่อน ดังนั้น ในปีหน้าก็ต้องมาดูถึงการเบิกจ่ายในระบบปกติ” เลขาฯ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนกรณี UCEP Plus เป็นมาตรการเสริมกรณีผู้ป่วยสีเหลืองและแดงนั้น ขึ้นกับการพิจารณาของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเสนอเข้า ครม.ซึ่ง สบส.ต้องดูว่าตัวเลขผู้ป่วยสีเหลืองและแดงมีมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นจากข้อมูลของ สปสช.ที่ตามไปจ่ายเงินให้ก็มีจำนวนไม่มาก
เมื่อถามถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด หลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต่อเนื่อง 2 ปี จึงมีการผูกงบประมาณไว้ 2 ปี แต่จะใช้งบประมาณจากมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันฯ หรืองบจากที่ไหน ต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ย้ำว่าเวลาฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงหรืออะไรนั้น งบที่จ่ายชดเชยไม่ได้จ่ายเพราะผลข้างเคียง แต่เป็นงบที่เราพิสูจน์ไม่ได้ว่า ไม่ได้เกิดจากวัคซีน จึงต้องชดเชยความเสียหายนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีน และต่อจากนี้หากมีความชัดเจนแล้วว่าหลังจากนี้ต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดทุกปี ก็เหมือนกับมาตรา 41 สปสช. ก็มีการชดเชยให้ทุกปีอยู่แล้ว