กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เผยความสำเร็จผู้จุดประกายอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพดิจิทัล หลังร่วมกับสปสช. ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงการรักษาผ่านบริการการแพทย์ทางไกลของ GDTT มาแล้วมากกว่า 6,000 คน ในช่วงปีที่ผ่านมา มุ่งมั่นขยายและพุ่งเป้าเน้นการรักษาผู้ป่วย 2 กลุ่มใหญ่สุด คือ ผู้ป่วยโรคพื้นฐาน และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยล่าสุดร่วมมือกับทางโรงพยาบาลบางปะกอก 8 เพื่อเป็นโมเดลไปสู่การช่วยยกระดับการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์จาก GDTT และสามารถเข้าถึงการรักษาต่อไปได้โดยง่าย พร้อมโชว์แผนงานที่กำลังดำเนินการลงทุนระบบเทคโนโลยีเพิ่มในส่วนของระบบ HSaaS เพื่อเป็น Plug in ให้กับแอปพลิเคชันด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะดึงเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร นอกเหนือจากแอปพลิเคชัน SCB Spring Up ของธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมุ่งหวังนำ AI เข้ามาพัฒนาระบบด้วยการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานคนป่วยก่อนส่งต่อให้คุณหมอวินิจฉัยโรค เพื่อรองรับ Demand ผู้เข้ามาใช้บริการสุขภาพดิจิทัลที่จะมีมากขึ้นในอนาคต และการขยายฐานไปสู่ความเป็นผู้บริการการแพทย์ทางไกล ที่จะสามารถดูแลด้านสุขภาพแบบครบวงจรมากขึ้น
นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หรือ GDTT บริษัทในเครือของกู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (GDT) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพระดับภูมิภาคที่มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นให้บริการ 'หนึ่งแพทย์ต่อหนึ่งครอบครัวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' (SEA) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของ GDTT ในการเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายถึงศักยภาพเรื่องบริการสุขภาพดิจิทัลโดยบริการการแพทย์ทางไกลรักษาด้วยการร่วมมือกับ สปสช. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้โครงการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ในช่วงที่ประเทศไทยต้องรับมืออย่างหนักกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทาง GDTT สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศได้ถึง 1,000 ราย จนมาถึงปัจจุบันนี้นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา กับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน GDTT ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด -19 ที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านนับรวมกันทั้งหมดจากเดิมที่มีอยู่ 1,000 ราย เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 ราย
ทำให้สปสช. ยิ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริการสุขภาพดิจิทัลของการใช้แพทย์ทางไกลรักษามากขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้คือยุทธศาสตร์และเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการรักษากับแพทย์ได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ทำให้ช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย ความแออัดของสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาลทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น และลดเวลาของคนในการไม่ต้องมานั่งรอแพทย์เป็นชั่วโมง ๆ ถึงจะได้ตรวจ ซึ่งปกติการรอจ่ายยา-รับยา ใช้เวลาไปกว่าครึ่งวัน ดังนั้น สปสช. จึงมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ร่วมกับ GDTT ในการต่อยอดไปสู่การดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 2 กลุ่มที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด คือ 1. คนไข้ที่เป็นโรคเจ็บป่วยพื้นฐาน เช่น โรคหวัด, ท้องเสีย, ออฟฟิศซินโดรม, ตาแห้ง 2.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิต ฯลฯ โดย 2 กลุ่มโรคดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่สามารถเข้ารับการบริการสุขภาพดิจิทัลลักษณะพบแพทย์ทางไกลรักษาได้เลยทันทีในเบื้องต้นผ่านแอปพลิเคชันของ GDTT ซึ่งจะช่วยการให้คำปรึกษา การติดตามอาการต่าง ๆ เบื้องต้น
ปัจจุบัน GDTT มีความพร้อมอย่างสูงในเรื่องของระบบเทคโนโลยีในการรองรับสนับสนุนบริการการแพทย์ทางไกลให้กับผู้ป่วย 2 กลุ่มโรคดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชันมือถือ Good Doctor Technology Thailand ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทาง GDTT เคยให้การดูแลในเรื่องของการเข้ารับคำปรึกษาพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรค
ตอกย้ำความสามารถในการจัดการและช่วยลดขั้นตอนในการรักษา มอบการรักษาทางไกลได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลมากขึ้น เพราะล่าสุด GDTT ได้ลงนามในสัญญาร่วมมือกับโรงพยาบาลบางปะกอก 8 (BKP8) กรุงเทพ เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพดิจิทัลในภูมิภาค และมีโอกาสในการขยายบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการการดูแลสุขภาพและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ในเวลาเดียวกัน GDTT เชื่อว่าการเลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้องและถูกเวลาให้กับผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาใด ๆ ก็ตาม จะช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาลได้
พนักงานบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้สิทธิประกันสังคมของโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ภายใต้โครงการของสำนักงานประกันสังคม (สปช.) ก็สามารถเข้ามาใช้บริการรับคำปรึกษาออนไลน์จากแพทย์ทางไกลของ GDTT ได้
โดยการทำสัญญากับทางโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ครั้งนี้ นายแพทย์สุทธิชัย กล่าวว่า ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อจะใช้เป็น Model ในอนาคตที่ GDTT มีแผนร่วมทำกับ สปสช.ในการยกระดับดูแลกลุ่มผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท เพื่อให้เป็นตามนโยบายของบริษัทในการมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นให้บริการ 'หนึ่งแพทย์ต่อหนึ่งครอบครัวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' (SEA) ของการจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดีขึ้น คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์ที่ควรจะมารับมือกับผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ และเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาผ่านมือของคุณหมอเท่านั้น
นอกจากนี้ GDTT ยังคงพัฒนาและเพิ่มเติมในส่วนของการเพิ่มบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในส่วนที่เป็นนักจิตวิทยา ,นักโภชนาการ , แพทย์สูตินารี เข้ามาเสริมทัพในการทำงานเพื่อรองรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ปัจจุบันมีความต้องการอยากเข้ามาขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ประกอบกับในด้านแผนงานนวัตกรรมเทคโนโลยี GDTT ก็วางทิศทางพัฒนาการลงทุนในส่วนที่เป็นระบบ Health Solutions as Service หรือ ที่เรียกว่า HSaaS เป็นระบบการทำงานที่จะเข้าไป Plugin กับแอปพลิเคชัน ของบริษัทอื่น ๆ ที่ให้บริการดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว อย่างเช่น ที่ผ่านมา GDTT ได้เข้าไป Plugin กับ แอปพลิเคชัน SCB Spring Up ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด -19 ที่ตรวจพบเจอผ่านวิธี ATK ขึ้น 2 ขีด โดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันของ GDTT เพิ่มแต่สามารถใช้แอปพลิเคชันเดิมที่มีอยู่แล้วมารับบริการแพทย์ทางไกลของ GDTT ได้เลย
ทั้งนี้ทาง GDTT จะมีการขยายให้บริการส่วนนี้เพิ่มขึ้นในด้านของการให้คำปรึกษาบริการแพทย์ทางไกลในเรื่องของโภชนาการและการออกกำลังกาย เนื่องจากผู้บริโภคที่อยู่ในแอปพลิเคชัน SCB Spring Up เป็นกลุ่มที่สนใจในการเรื่องดูแลรักษาสุขภาพ อีกทั้ง GDTT ก็จะไป Plugin รวมกับแอปพลิเคชันด้านการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และเด็ก เพื่อให้ขยายโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงการให้รับบริการสุขภาพดิจิทัลของการใช้แพทย์ทางไกลรักษา หรือ การขอรับคำปรึกษาได้มากขึ้น เพื่อช่วยลดขั้นตอนความไม่จำเป็นที่ต้องไปรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยด้วย
อย่างไรก็ดี GDTT ก็ยังมีแผนที่จะนำระบบ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยขั้นพื้นฐานให้กับแพทย์ของ GDTT เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขั้นตอนในการรวบรวมข้อมูลของคุณหมอในการวินิจฉัยโรค โดยแผนดังกล่าวทั้งหมดนี้กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องและถือเป็นการปรับตัวและพัฒนาอย่างหนึ่งของ GDTT เพื่อจะสามารถรองรับกับปริมาณความต้องการที่เป็น Demand ของจำนวนผู้ป่วยที่มีความต้องการหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต ผู้คนจะได้รับบริการการให้คำปรึกษาแพทย์ทางไกลและเทคโนโลยีอัจฉริยะที่จะช่วยจัดการแผนการดูแลผู้ป่วยและความต้องการด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น อีกทั้ง GDTT มุ่งมั่นที่จะสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ความร่วมมือใหม่ ๆ สำหรับการแพทย์ในอนาคตที่จะขยายครอบคลุม และมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูงมากขึ้นต่อไป