สปสช.แจงสิทธิบัตรทองอยู่ ตจว.ไม่ได้ย้ายหน่วยบริการ ยังใช้สิทธิรักษาฟรีปฐมภูมิทุกที่ใน กทม.ได้ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว คลินิกปฐมภูมิเบิกจ่ายมายัง สปสช.ได้ ส่วนบริการ Telemedicine อยู่ในสิทธิประโยชน์แล้ว รักษารูปแบบนี้ฟรีเช่นกัน
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ย้ายจากต่างจังหวัดมาทำงานใน กทม. โดยไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. ยังใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยแจ้งย้ายหน่วยบริการมาเป็นหน่วยบริการใกล้บ้านในพื้นที่ กทม. มีสิทธิย้ายได้ปีละ 4 ครั้ง เพราะมาอยู่ทำงานเวลานาน หรือไม่จำเป็นต้องแจ้งย้ายหน่วยบริการก็เข้ารับบริการรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ได้ฟรี ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว เพียงแต่ที่ผ่านมาหน่วยบริการปฐมภูมิอาจกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ขอย้ำว่า สปสช.จัดระบบกลไกการเงินมาจ่ายให้ประชาชนที่ไปรับบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ทั่วประเทศแล้ว
“ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ทะเบียนและหน่วยบริการตามสิทธิอยู่ต่างจังหวัด แต่เข้ามาทำงานใน กทม.ก็สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับการรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม.ได้ฟรี ไม่ต้องมีใบส่งตัว เช่น คลินิกเอกชนที่เป็นเครือข่ายของ สปสช.ใกล้บ้านทุกแห่ง โดยที่คลินิกไม่มีสิทธิปฏิเสธ เพราะคลินิกสามารถเบิกค่ารักษามายัง สปสช.ได้” นพ.จเด็จกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการรับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) อยู่ในสิทธิประโยชน์รับบริการฟรีหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า อยู่ในสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว หากสถานพยาบาลในเครือข่ายบัตรทองมีบริการนี้และพิจารณาว่า ผู้ป่วยรับบริการรูปแบบนี้ได้ ก็รับบริการฟรีไม่ต้องจ่ายเงิน เพียงแต่ที่ผ่านมาบริการนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมมาก แต่เชื่อว่าหลังการระบาดของโควิดจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วน Telemed ที่พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเฉพาะ แต่ไม่ได้ผูกติดกับ รพ.หรือหน่วยบริการ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วน กทม.มีนโยบายจะขยายบริการปฐมภูมิให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิจำนวนมาก แต่อาจจะรู้สึกว่าไม่พอ เนื่องจากพื้นที่ กทม.มีประชากรแฝงเข้ามาอยู่มาก เมื่อจะเปลี่ยนสิทธิบัตรทองเข้ามาอยู่ใน กทม.ในหน่วยบริการใกล้บ้านก็พบว่าเต็ม จึงต้องพิจารณาข้อมูลอีกครั้งว่า จุดไหนยังเป็นปัญหา เพราะบางที่แออัดมาก แต่บางที่ก็ยังไม่มาก เช่น มีนบุรี เป็นเขตที่อาจจะยังมีไม่มาก ส่วนเขตพญาไทมีหน่วยบริการเต็มไปหมด ซึ่ง กทม.จะต้องเข้ามามีบทบาท โดยจัดว่าจุดไหนที่มีคนมาทำงานมาก แต่ยังลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มหน่วยบริการ ส่วนจะเพิ่มเท่าไรจะต้องพิจารณาจากข้อมูล โดยอาจเป็นการดึงคลินิกเอกชนในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายบัตรทองให้บริการมากขึ้นหรือรูปแบบอื่นๆ