รพ.ร้อยเอ็ด ชี้มะเร็งรักษาทุกที่ ช่วยเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น 8-10% ลดเวลารอคอย เผยมีบริการครบวงจร ทั้งคัดกรอง วินิจฉัย รักษาหลากวิธี ดูแลระยะสุดท้าย ผ่าตัดมะเร็งตับสูงอันดับ 2 ของประเทศ ฝาก สปสช.พิจารณาเบิกค่ารักษากลืนแร่ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ เหตุต้นทุนสูง เบิกไม่ได้
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ว่า ช่วยให้เข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น ไม่ต้องไปถึง รพ.ใหญ่ ซึ่งบางครั้งประชาชนไม่ทราบว่า รพ.หัวเมืองต่างจังหวัดก็ให้บริการรังสีรักษาและเคมีบำบัดได้ หรืออาจเข้าใจว่าการรักษาในเมืองใหญ่ดีกว่า พอคนไข้มะเร็งไปแออัดใน รพ.ใหญ่ก็ทำให้รอคอยนานขึ้น เสียโอกาสในการรักษาจนอาการลุกลาม
นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.ร้อยเอ็ดให้บริการครบวงจร ตั้งแต่รณรงค์ความรู้เรื่องไม่ทานปลาดิบ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด ฯลฯ มีพยาบาลวิชาชีพคัดกรองมะเร็งระยะเริ่มต้นในพื้นที่ เมื่อพบก็จะส่งมาตรวจยืนยันที่ รพ.ร้อยเอ็ด มีงบประมาณค่าตรวจนอกเวลาจาก สปสช. ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำให้ตรวจมะเร็งลำไส้ได้มากขึ้น ส่วนมะเร็งตับเราผ่าตัดสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มะเร็งปากมดลูกมีการนำร่องที่ อ.พนมไพร ให้ผู้ป่วยเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง เนื่องจากบางครั้งผู้หญิงไม่อยากขึ้นขาหยั่งให้แพทย์ตรวจ ถ้าวิธีนี้แม่นยำสูงจะขยายทั้งจังหวัด ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีดำเนินการมา 20-30 ปี แต่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาอยู่มาก เนื่องจากวัฒนธรรมคนอีสานมักทานปลาดิบมาตั้งแต่เล็ก ทำให้มีปัญหามะเร็งท่อน้ำดีค่อนข้างมาก
"เรามีการรักษาครบวงจร ทั้งฉายแสง ฝังแร่ กลืนแร่ไอโอดีน 131 เป็นจังหวัดแรกที่มีบริการนี้ในเขตสุขภาพที่ 7 แต่มีต้นทุนสูง รพ.เบิกเงินได้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง แต่ในผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์แทบไม่ได้เลย จึงฝาก สปสช.พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย" นพ.ชาญชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักผู้ป่วยมะเร็งให้ใช้พักฟรีระหว่างฉายแสง เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางและความเหนื่อยล้าจากการฉายรังสี มีบริการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ด้าน นพ.ไพบูลย์ เพ็ญสุวรรณ รอง ผอ.ด้านการพัฒนาศูนย์มะเร็ง รพ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า หลังดำเนินการนโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จากเดิมที่ในเขตสุขภาพที่ 7 มีประมาณ 8 รพ.ที่ให้บริการรักษามะเร็งในปี 2564 ก็มี รพ.เพิ่มเข้ามาในเครือข่ายอีก 4 แห่ง และปีนี้ตั้งเป้าขยายจำนวน รพ.เครือข่ายเพิ่มอีก ผลงาน รพ.ร้อยเอ็ดเป็นอันดับ 1 ของประเทศตามตัวชี้วัดในระบบฐานข้อมูลมะเร็ง ส่วนการรักษาด้วยรังสีสามารถให้บริการได้เร็วขึ้น เนื่องจากได้เครื่องฉายรังสีมาเพิ่มอีก 1 เครื่อง และในระดับเขต ประชาชนก็ลดระยะเวลารอคอย เข้าถึงบริการต่างๆ เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ก่อนมีนโยบายนี้ 8-10%
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.จัดชุดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับมะเร็งให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไว้หลายรายการ ตั้งแต่ตรวจคัดกรองเบื้องต้น ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งบางชนิด การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือต่างๆ การรักษาทั้งผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด การดูแลแบบประคับประคองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ทั้งนี้ ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองยังมีข้อจำกัด เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ไปรับการรักษาที่สถานบริการใกล้บ้าน แต่ไม่สามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนอย่างมะเร็งได้ ต้องส่งตัวไป รพ.ที่มีศักยภาพสูง ต้องรอคิวนานในบางขั้นตอนการรักษา ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนโรคลุกลามหรือเสียชีวิต
สธ.และ สปสช. จึงร่วมกันจัดระบบบริการให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือมะเร็งรักษาทุกที่ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่ต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน การใช้ทรัพยากรแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่อง PET CT เครื่องฉายรังสีรักษา อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอย รับการรักษาที่ต่อเนื่อง ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่รองรับนโยบายนี้กว่า 245 แห่งทั่วประเทศ และ รพ.ร้อยเอ็ดเป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่ให้การดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ