ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 ต่อเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง “การเรียนรู้ถดถอย” (Learning Loss) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เด็กทั่วโลกต้องเผชิญ กระทั่งองค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อราวเดือนเมษายนที่ผ่านมาเรียกร้องให้นานาประเทศออกมาตราการเร่งด่วนเพื่อช่วยให้เด็กทุกคนได้กลับมาเรียนหนังสือและชดเชยความรู้ที่ถดถอย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนการเรียนรู้และหน้าที่การงานในอนาคตของเด็ก ๆ
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ร่วมระบุว่า
“นับตั้งแต่มีการปิดโรงเรียนในเดือนมีนาคม 2563 เด็กนักเรียนทั่วโลกสูญเสียชั่วโมงเรียนไปมากกว่า 2 ล้านล้านชั่วโมง และเด็ก ๆ มากกว่า 4 ใน 5 ประเทศมีการเรียนรู้ที่ถดถอย ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็ก ๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เด็ก ๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กในเกือบทุกประเทศซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าเรียนต่างไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้เลยเนื่องจากการศึกษาปฐมวัยที่ขาดหายไป”
ในประเทศไทย การปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อเด็กนับล้านคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ หรือแม้แต่เด็กที่เข้าถึงออนไลน์ แต่เมื่อต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนกะทันหัน ล้วนเป็นสาเหตุทำให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ต้องหยุดชะงัก จนเกิดเป็นภาวะถดถอยทางการเรียนรู้
การเรียนรู้ถดถอย เป็นผลของการเสียโอกาสในการเรียนรู้มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสียตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการเท่านั้น แต่รวมไปถึงทักษะต่างๆ ตามวัย
เด็กจำนวนมากสูญเสียโอกาสตามวัย ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กเล็ก แต่เป็นเด็กทุกวัย เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน บางคนผ่านไปทั้งปีแบบรู้จักเพื่อนและครูบาอาจารย์ทางออนไลน์เท่านั้น ตลอดทั้งปีต้องเรียน และทำกิจกรรมผ่านออนไลน์อย่างเดียว
หลานสาวดิฉันเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 จบปีการศึกษายังไม่เคยได้เจอเพื่อนแบบตัวเป็น ๆ ไม่มีกิจกรรมใด ๆ สำหรับเฟรชชี่ หรือกิจกรรมที่วัยรุ่นจะคึกคักครึกครื้นในมหาวิทยาลัย เพิ่งจะเริ่มมีสัญญาณว่าปีนี้ ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 2 จะได้ไปมหาวิทยาลัยแล้ว เธอเองก็รู้สึกว่าชีวิตได้สูญเสียช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตวัยเยาว์เลยทีเดียว และแน่นอนทักษะบางอย่างที่ควรมีก็หายไป บางคนถึงกับเกิดภาวะถดถอยทักษะบางประการ เช่น
ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร
เมื่อเด็กต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านมักจะไม่ค่อยได้คุยกับใคร จะอยู่กับตัวเองและสื่อเทคโนโลยีเป็นหลัก ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กก็จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและพัฒนาการทางภาษาจะลดลง
ทักษะด้านความสัมพันธ์
เพราะเมื่อต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ไม่ได้เจอเพื่อน ซึ่งทำให้เกิดความเคยชิน เมื่อต้องกลับไปโรงเรียนก็อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่ต้องย้ายโรงเรียน หรือเปลี่ยนช่วงชั้น ต้องพบเพื่อนใหม่ ก็ยิ่งทำให้การปรับตัวช้า หรือไม่ค่อยอยากพบเจอผู้คน ขาดทักษะการเข้าสังคม
เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตั้งหลักและรับมือกับสถานการณ์ภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหลานของตัวเอง ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันเจอะเจอสถานการณ์เรื่องสภาวะเศรษฐกิจเข้าไปอีก ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ข้าวของแพงขึ้น ในขณะที่รายได้ลดลง สุขภาพที่แย่ลง ย่อมทำให้ผู้คนเกิดภาวะความเครียด ความสุขก็ลดลง เรียกว่าเรากำลังเผชิญสถานการณ์ร่วมรอบด้าน
การเรียนรู้ถดถอย
รายได้ถดถอย
สุขภาพถดถอย
ความสุขถดถอย
ทั้งหมดนี้ ยิ่งทำให้คนเป็นพ่อแม่ยิ่งต้องตั้งหลักและหาทางฟื้นฟูทั้งตัวเองและเด็ก ๆ เพราะไม่รู้ว่าภาวะถดถอยครั้งนี้จะยังอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน
ที่สำคัญต้องไม่ทำให้เกิดอาการ “ความรักถดถอย” ละกันค่ะ