xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.ผ่านเกณฑ์ “โควิด” 3 หมื่นโรง ต้องครบ 100% ใน พ.ค.นี้ ย้ำเปิดออนไซต์เพิ่มพัฒนาการ-ปฏิสัมพันธ์ แลกเสี่ยงรวมตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผย โรงเรียนผ่านประเมินโควิด” แล้ว 3 หมื่นโรง ภายใน พ.ค.นี้ ต้องผ่านครบ 100% ย้ำ สาเหตุเปิดเรียนออนไซต์เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการ มีปฏิสัมพันธ์ เหตุออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ หลังเปิดเรียนห้ามเด็กสุงสิงไม่ได้ แนะ 4 มาตรการเพิ่มความปลอดภัย ส่วนเด็กเล็กยังต้องแบ่งกลุ่ม Bubble ย้ำพบติดเชื้อทำตามแผนเผชิญเหตุ จะไม่ปิดทั้งโรงเรียนเหมือนก่อน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 เป็นวันแรก ว่า ก่อนเปิดเรียนสถานศึกษาจะต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID 2+ ว่าผ่านมาตรการต่างๆ หรือไม่ แม้โรงเรียนจะเคยมีการประเมินและดำเนินการได้ตามมาตรการมาก่อน แต่เนื่องจากเมื่อมีการปิดเทอม ขณะที่มาตรการมีการปรับไปตามสถานการณ์โควิดที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการประเมินใหม่ก่อนเปิดเทอม ซึ่งขณะนี้โรงเรียนกว่า 3.8 หมื่นโรงจากทุกสังกัด เข้าสู่ระบบการประเมินดังกล่าวแล้วกว่า 3 หมื่นโรง ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขและศึกษาธิการในพื้นที่ทราบข้อมูลและลงไปกำกับติดตามให้ดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งครอบครัว ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนดูแลด้วย คาดว่าอีกไม่กี่วันก็น่าจะครบ 100% โดยจะต้องประเมินและปรับปรุงมาตรการให้ผ่านเกณฑ์ภายใน พ.ค.นี้

เมื่อถามถึงข้อกังวลว่าเด็กมาเรียนแล้วจะมีการรวมตัว ทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เหตุผลในการเปิดเรียนแบบออนไซต์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ เด็กสามารถการเติบโตไปอยู่กับผู้คนได้ ซึ่งเรียนออนไลน์อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมด ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดปัจจุบันคลี่คลายลงตามลำดับ มีการฉีดวัคซีนโควิดมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจของครอบครัวและชุมชนดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เมื่อให้มาเรียนในโรงเรียนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ให้เขาสุงสิงกัน แต่เราจะดำเนินการผ่าน 4 กรณีเพื่อเพิ่มความปลอดภัย คือ

1. เตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดในโรงเรียนหรือระหว่างเดินทางมาเรียน 2. ทำให้เด็กลดความเสี่ยงมากที่สุด สำคัญคือการฉีดวัคซีน ซึ่งเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี เริ่มฉีดภายหลังเด็กโต ผู้ปกครองยังกังวลเรื่องวัคซีน ย้ำว่าวัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับประโยชน์ก็พบว่าลดความรุนแรงได้ โดยเด็กที่มีโรคประจำตัวขอให้อยู่ดุลยพินิจของแพทย์ 3. การฉีดวัคซีนให้แก่คนรอบข้างของเด็ก เมื่อเด็กยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน และ 4. ทำแผนเผชิญเหตุเมื่อมีการติดเชื้อ เพราะแม้จะมีมาตรการลดความเสี่ยง ทั้งเว้นระยะห่างให้เหมาะสม ลดความแออัด การจัดวัสดุอุปกรณ์ ทำความสะอาด ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อหรือเป้นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้

“สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม เราจะไม่ย้อนกลับไปเหมือนตอนเจอติดเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง 1 คน แล้วปิดทั้งโรงเรียน ซึ่งแผนเผชิญเหตุจะมีการกำหนดว่าเจอผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร เช่น เจอในคนฉีดวัคซีนครบและไม่ครบก็มีการดำเนินการแตกต่างกัน หรือโรงเรียนประจำจัด School Isolation ให้เด็กติดเชื้อเรียนได้ หรือครูติดเชื้อทำงานได้ หรือโรงเรียนไปกลับอาจจัดการเรียนออนไลน์เสริม กรณีสัมผัสเสี่ยงสูงฉีดวัคซีนครบไม่มีอาการ ก็จัดการแบบหนึ่ง กลุ่มนี้เราไม่อยากให้กักตัวเด็ก 100% ก็ต้องจัดระบบและสถานที่ให้เด็กไปเรียนและลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ ทั้งหมดเป็นหลักการ แต่ละโรงเรียนมีบริบทต่างกัน จึงกระจายอำนาจให้พื้นที่ดำเนินการแนะนำดูแล” นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีรถรับส่งนักเรียนนั้น อยู่ในส่วนของ 7 มาตรการเข้มเรื่องการเดินทาง ซึ่งผู้ประกอบการ ผู้กำกับดูแล ผู้ปกครองและชุมชนต้องช่วยกันดูแลให้รถลดความเสี่ยง ซึ่งมีมาตรการไว้แล้ว และทำให้เด็กปลอดภัย หรือคนรอบข้างเด็กปลอดภัยอย่างคนขับก้ต้องฉีดวัคซีนให้ครบ คัดกรองความเสี่ยงเสมอ มีอาการหรือความเสี่ยงก็ตรวจ ATK ทั้งนี้ ได้รับแจ้งว่าโรงเรียนไปกำหนดมาตรการว่าเด็กจะเข้าเรียนแล้วให้ตรวจ ATK นั้นเราไม่แนะนำให้ตรวจทุกคนที่ไปสถานศึกษา แต่ให้ประเมินความเสี่ยง หากมีความเสีย่งชัดเจนหรืออาการเข้าได้ถึงค่อยตรวจจะมีประโยชน์กว่า เพราะยิ่งเด็กเล็กการสวอปนั้นอาจกระทบต่อจิตใจเด็ก

ถามว่า เด็กอาจจะมีเรื่องของการ์ดตกที่โรงเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยาก มีคำแนะนำสำหรับครูในการดูแลเด็กหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า แนวทางมีไว้หมดแล้ว เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมเด็กเล็ก แต่เรามีมาตรการ หลายโรงเรียนก็ดำเนินการ เช่น แบ่งเด็กเป็นกลุ่มๆ หรือ Bubble ให้อยู่ในกลุ่มตัวเอง ไม่เล่นข้ามกลุ่ม ซึ่งในกลุ่มศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เราแนะนำให้แบ่งเด็กเป็นกลุ่ม หากติดเชื้อก็จะเป็นกลุ่มนั้น ทำความสะอาดจุดนั้น จึงไม่ต้องปิดทั้งโรงเรียนอนุบาลหรือทั้งศูนย์เด็กเล็ก

ถามว่า แม้จะมีแผนเผชิญเหตุและโรงเรียนทำตาม แต่เมื่อมีการติดเชื้อกลับเป็นผู้ปกครองที่กังวลและให้เด็กหยุดเรียน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตรงนี้มี 2 ส่วน เรื่องเหล่านี้คือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณือาจจะพูดได้ แต่พออยู่ในเหตุการณ์ก็จะมีความกังวลมากกว่า การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจะทำให้เราตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้องและบนเหตุผล ส่วนที่สองคือโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะมีหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ทั้ง รพ.สต. และ รพ.ชุมชน หากมีข้อสงสัยขอให้ปรึกษา ไม่ใช่ไปปิดโรงเรียน หรือผู้ปกครองก็กังวลทั้งที่ลูกก็อยู่คนละชั้นคนละโรงเรียน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น