xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง "เรียนออนไลน์" ทำพัฒนาการเด็กถอย เชื่อเปิดเทอมออนไซต์ช่วยกระตุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผยเรียนออนไลน์ทำพัฒนาการเด็กถดถอย เหตุขาดปฏิสัมพันธ์ ไม่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ขาดการทำงานเป็นทีม กระทบหลายมิติ แต่หากรีบกระตุ้นพัฒนาการจะกลับคืนมา เปิดเทอมรอบนี้จึงเน้นออนไซต์ แม้แต่สัมผัสเสี่ยงสูงรับวัคซีนก็ไม่ควรกักตัว แต่ให้จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงผลกระทบพัฒนาการเด็กจากการเรียนออนไลน์ช่วงที่ผ่านมา ว่า ตามปกติจะมีการประเมินพัฒนาการเด็กด้วยแบบคัดกรอง DSPM เป็นประจำทุกเดือน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะให้ผู้ปกครองประเมิน หรือให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประเมิน ก้จะมีรายงานภายใต้ระบบอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงโควิดที่มีผลกระทบเรื่องการเรียนการสอน เน้นมาเรียนผ่านระบบออนไลน์นั้น เมื่อเอาผลการประเมินพัฒนาการในช่วงนี้มาดู ก็จะพบว่ามีพัฒนาที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและมีการกระตุ้นพัฒนาการ อย่างช่วงปี 2563 ก็พบว่าพัฒนาการจะกลับคืนมาได้ ยิ่งถ้ารีบกระตุ้นก็จะกลับคืนมา พัฒนาการไม่ได้ลดลงไปตลอด เพราะพัฒนาการที่ลดลงไม่ได้เป็นผลกระทบจากร่างกายโดยตรง แต่มาจากการที่เด็กไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและไม่ได้ถูกกระตุ้น ส่วนเรื่องการเจริญเติบโตนั้นขึ้นกับการเลี้ยงดู อาหารและโภชนาการ

"ผลกระทบจากการที่เด็กไม่ได้ไปเรียนออนไซต์มีหลายมิติมาก ทั้งการช่วยเหลือเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือ มิติการเข้าสังคม มิติการเรียนรู้ที่ต้องเกิดจากการปฏิบัติจริงหรือการแลกเปลี่ยน การทำงานแบบกลุ่มหรือทีม หลากหลายมิติมาก เพราะฉะนั้น ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มคลี่คลายและตัวอย่างหลายๆ ประเทศก็มาทางนี้ คือ สุดท้ายเด็กต้องไปเรียน แต่ว่าไปเรียนด้วยตัวมาตรการที่กำหนดอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเปิดเรียนรอบนี้จึงพยายามให้เปิดเรียนออนไซต์" นพ.สุวรรณชัยกล่าว


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การเปิดเรียนออนไซต์จะช่วยเพิ่มพัฒนาการและปฏิสัมพันธ์ เป็นโอกาสอันดีในการรีบกระตุ้นพัฒนาการเด็กให้กลับคืนมา ซึ่งเราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ อย่างขนาดเด็กที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากได้รับวัคซีนครบเราก็มีวิธีจัดการมากกว่าเอาเด็กไปกักเฉยๆ เพราะสามารถจัดการให้เขามาเรียน แต่ต้องจัดการไม่ใช่มาเรียนปนเหมือนนักเรียนปกติ จะสังเกตว่าแนวทางมันปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องสถานการณ์ โดยเราคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ

"เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างการนำเด็กไปเก็บที่บ้านหรือเด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ เชื่อว่าความสูญเสียโอกาสของเด็กหรือความสูญเสียของเด็กที่จะเติบโต ทั้งการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตอนนี้ขอเรียกว่าต้นทุนมากกว่าความรุนแรงหรือสถานการณ์ของโรคแล้ว เราต้องอยู่ให้ได้กับโควิด ซึ่งจริงๆ มีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมากมายในกลุ่มเด็ก และทำให้เด็กเสียชีวิตจากปอดบวมหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เรายังอยู่กับเขาได้ โควิดก็ควรจะอยู่กันได้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้นตามลำดับ มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีความรุนแรงลดลง และเมื่ออาการไม่รุนแรงโอกาสแพร่เชื้อก็ลดลง และส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการ แต่ย้ำว่าการ์ดอย่าตก แม้จะอยู่ร่วมกันได้กับโควิด แต่ไม่ได้หมายความว่าประมาท หลายคนคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ขอเรียนว่าเรื่องพวกนี้คงต้องจับตาและเฝ้าระวังอีกนานพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปติดกับกับสถานการณ์ในอดีต เช่น เชื้อเดลตาที่มีความรุนแรงสูง หรือการระบาดช่วงที่จำนวนเยอะกระจายหลายพื้นที่ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายตามลำดับ แต่ไม่ได้เป็นเหตุให้ประมาทเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น