xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตโควิดกระทบ "อีคิว" เด็กโต น่าห่วงเพิ่มตามวัย สวนทางเด็กเล็ก พบเครียด ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิตเผยเด็ก ป.1 มีอีคิวปกติสูง 83.4% เหตุได้รับการดูแลปกป้องจากครอบครัว ทำให้โตมาแบบเก่ง ดี มีสุข วิกฤตโควิดไม่ค่อยกระทบเด็กเล็ก แต่ส่งผล "เด็กโต" ทำอีคิวน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นตามวัย สะท้อนจากภาวะเครียด ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตายมากขึ้น ย้ำพ่อแม่ครูช่วยดูแล รวมถึงสังคมโดยรวมต้องสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดภัยแก่เด็ก โดยเฉพาะโลกไซเบอร์

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศปีล่าสุด 2564 ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% แม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้านจากสถานการณ์โควิด ว่า เรามีการประเมินความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวของเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งพ้นจากความเป็นปฐมวัย โดย 5 ขวบแรกที่มีความใกล้ชิดครอบครัว และเรามีการเร่งดูแลเด็กกลุ่มนี้มาหลายปีมากในอดีต ซึ่งข้อมูลของอีคิวที่ออกมาพบว่าเด็ก ป.1 จำนวน 83.4% มีอีคิวดี เก่งดี มีความสุข สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ในครอบครัวและสถานการณ์ในสังคมได้ดี เรามีเครื่องมือวัดที่ใช้ต่อเนื่องมาหลายปี และเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้แปลว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นจะทำอะไรเด็กไทยไม่ได้

"สำหรับเด็กเล็กเด็กค่อนข้างถูกปกป้องจากครอบครัว ได้รับความใกล้ชิดในครอบครัว จนอีคิวเขายังดีอยู่ แต่เด็กที่โตขึ้นมากว่านั้น คือ เด็กทีไปโรงเรียนแล้ว เด็กประถมและเด็กมัธยม จากสถานการณ์ที่ปรากฏในสังคม วิกฤตครั้งนี้ทำร้ายเขาพอสมควร หากถามว่าเด็กวัยรุ่นตอนนี้อีคิวดีขึ้นไหม คงต้องตอบว่าสวนทางกับเด็ก ป.1 ซึ่งตอนนี้เด็กวัยรุ่นของเรากำลังมีสถานการณ์อีคิวที่เราเป็นห่วงมากขึ้น สะท้อนจากภาวะความเครียดของเขาที่มากขึ้น ความเสี่ยงต่อซึมเศร้าที่มากขึ้น รวมถึงการที่เขามีความคิดฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นด้วย วิกฤตทำอะไรในเด็กเล็กไม่มากนัก แต่วิกฤตโควิด 19 ทำอะไรเด็กกลุ่มวัยรุ่นมากพอสมควร " พญ.อัมพรกล่าว

เมื่อถามว่า สาเหตุที่เด็กโตขึ้นและมีอีคิวลดลง เนื่องจากเจอปัญหาสารพันต่างๆ ในชีวิต และต้องแบกรับต่อสู้ด้วยตัวเองหรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 2-3 ปี เป็นเช่นนั้น เด็กที่โตขึ้นเริ่มมีสภาพอีคิวที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นตามวัย

ถามต่อว่าพ่อแม่ครูจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง พญ.อัมพรกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองสำคัญมาก ที่ปฏิเสธไม่ได้คือความรับผิดชอบของสังคมโดยรวม ทำให้พื้นที่ต่างๆ เป็นมิตร กับเด็กที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะพื้นที่ในโลกไซเบอร์ที่เต็มไปด้วยเกมล่อลวงเด็ก เต็มไปด้วยสิ่งยั่วจูงใจเด็กในทางผิดๆ โลกไซเบอร์ที่พยายามสร้างสีสันของการบริโภค หรือการชิงดีชิงเด่นกัน หรือมีการประกวดประขันกัน หรือมีความล่อแหลมทางเพศมากมาย เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังทำร้ายเด็กวัยรุ่นกันอยู่ ก็ต้องช่วยกัน ครูกับพ่อแม่อย่างเดียวคงไม่ไหว ยังมีคนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้และสร้างสภาพความเป็นเหยื่อให้แก่เด็กของเราเยอะมาก ทุกคนต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่เด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น