xs
xsm
sm
md
lg

พม.ทำMOU สธ.ฟื้นฟูผู้ป่วยอาการทางจิต กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พม. จับมือกรมสุขภาพจิต ฟื้นฟูกลุ่มเปราะบางจิตเวชในสถานรองรับ กลับมาใช้ชีวิตในสังคม เผยคนป่วยทางจิตในกลุ่มเปราะบางในความดูแลของ พม. มีจำนวนมาก เพราะสังคมมีความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลง

วันที่ 18 พ.ค. 65 นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) การดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวชในสถานรองรับของกระทรวง พม. ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับหน่วยงานระดับกรมสังกัดกระทรวง พม. โดยมีอธิบดีกรมสังกัดกระทรวง พม. ร่วมลงนาม กับแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อีกทั้ง นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายจุติ กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบาง โดยมุ่งเน้นการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบ ซึ่งหมายรวมถึงมิติด้านสุขภาพของกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งกระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือ คุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง โดยจัดให้มีสถานรองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่มปราะบาง รวมทั้งผู้ใช้บริการที่มีอาการทางจิตเวช ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการในสถานรองรับของกระทรวง พม. ที่เป็นผู้มีอาการทางจิต จำนวน 6,103 คน คิดเป็นร้อยละ 60.18 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด 10,141 คน

ทั้งนี้ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวง พม. ร่วมหารือกับกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับแนวทางการดูแลฟื้นฟูผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องและเหมาะสม จากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง ด้วยการสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานระหว่างสถานรองรับของกระทรวง พม. กับโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้บริการให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา

นายจุติกล่าวเพิ่มเติมว่า พม. และ สธ. ได้ทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้า เพราะวันนี้คนที่ป่วยจิตเวชที่เป็นกลุ่มเปราะบางในความดูแลของกระทรวง พม. มีจำนวนมาก เพราะสังคมมีความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายและคนเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ซึ่งเราจะทำงานแบบเดิมไม่ได้ ด้านกรมสุขภาพจิตได้เน้นการทำงานแบบพุ่งเป้า แม้กระทั่งคนที่เข้าไม่ถึง และเราจะใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถเข้าถึงให้ได้ เพราะทุกคนต้องการความช่วยเหลือ ในยามที่มืดที่สุดทุกคนต้องการคำแนะนำ ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย โดยสะท้อนนโยบายของรัฐบาลที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเราได้เริ่มต้นที่นี่ และจะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง แข็งแรง เพื่อครอบครัวจะมีสุขภาพจิตที่ดี เข้มแข็ง และกายจะไม่ป่วย สามารถฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตต่อไปได้ เป็นการวางฐานรากครอบครัวด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราต้องการคนไทยที่เข้มแข็งทั้งจิตและกาย เพื่อที่จะฝ่าอุปสรรคต่อไปให้ได้ ขณะนี้ สถานรองรับส่วนใหญ่มีผู้ป่วยจิตเวช เพราะถูกทอดทิ้งและเข้าไม่ถึงแพทย์และยารักษา ในวันนี้เราได้แก้ไขปัญหานี้อย่างครบวงจร โดยมีทีมที่พัฒนาวิธีการรักษาในการนำผู้ป่วยจิตเวชไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และจะมีการทดสอบความสามารถในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น