จิตแพทย์เตือน "วัยรุ่น" ระบายอารมณ์โกรธลงโซเชียล เหมือนถือโทรโข่งยืนตะโกนด่ากลางตลาดนัด เสี่ยงละเมิดคนอื่น และถูกละเมิดกลับ เหตุถูกส่งต่อได้เป็นแสนเป็นล้านครั้ง ไม่ควรระบายอารมณ์ที่สาธารณะ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการระบายความโกรธหรืออารมณ์ด้านลบของเด็กวัยรุ่น ว่า วิธีง่ายๆ คือ การเบี่ยงเบนตัวเองจากความโกรธนั้นชั่วขณะ เช่น ดูหนังฟังเพลง หรือระบายความรู้สึกโกรธในรูปแบบที่ไม่เป็นอันตรายต่อใคร เช่น บางคนเขียนใส่กระดาษแล้วฉีกกระดาษทิ้ง ชกกระสอบทราย หรือซักผ้า ซึ่งการออกแรงลงไปเยอะๆ เหมือนได้คลายความเกรี้ยวกราดลงไปบ้าง เป็นการยักย้ายพลังงานความโกรธ ไปเป็นวิธีสร้างสรรค์อื่นๆ แต่ที่ดียิ่งขึ้น คือ มองหาคนมีวุฒิภาวะแล้วบอกเล่าหรือระบายให้ฟัง ทำให้เราลำดับความคิดนั้นอีกครั้ง ถ้าได้คนฟังที่มีวุฒิภาวะจะช่วยจัดระเบียบความคิดเรา บางทีพอพูดเสร็จอาจจะหายโกรธแล้ว และยังมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองที่ต้องปรับปรุงด้วย ซึ่งในเด็กโตใช้วิธีการเขียนระบายก็ช่วยได้เช่นกัน เขียนเสร็จจะจับประเด็นตัวเองได้ว่า เราพลาดตรงไหน ผิดตรงไหน และพัฒนาอะไรได้ รวมถึงอาจหาที่มาของความโกรธ เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องโกรธ หรือมีปัญหาทางจิตใจแบบที่เคยเกิดไปแล้ว
นอกจากนี้ การฝึกมองข้อดีของตัวเอง มองข้อดีของคนรอบข้างเรา ครอบครัว เพื่อน ครู โรงเรียน เป็นบทที่หนึ่งของการมองโลกในทางบวก ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เป็นต้นทุนทำให้เราไม่โกรธไม่ฉุนเฉียวง่าย รวมถึงดูแลสุขภาพอื่นๆ คือ นอนหลับพักให้พอ ออกกำลังกายตามสมควรจะทำให้เราปลดปล่อยพลังในทิศทางที่สร้างสรรค์ ไม่กลายเป็นความเกรี้ยวกราดหรือโมโห
เมื่อถามถึงปัญหาการระบายความโกรธ โมโหผ่านโซเชียลมีเดีย พญ.อัมพรกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสมัยก่อนเราไม่มีโลกไซเบอร์ เวลาโกรธก็ยืนบ่นให้คนใกล้ตัวฟัง หรือเขียนระบายลงกระดาษไดอารีจ๋าของเรา ก็เป็นวิธีที่ดี แต่พอเรามีโลกโซเลียลมีเดีย โลกไซเบอร์ เราไปเข้าใจผิดว่า การยืนบ่นอัดคลิป การระบายลงไปในโซเชียลมีเดีย จะได้อารมณ์การระบายออกคล้ายๆ เดิม แต่คนรับรู้เรื่องนี้มันมหาศาล เทียบเท่ากับการไปยืนกลางตลาดนัด แล้วถือโทรโข่งตะโกนด่าคน ตะโกนว่าคน และละเมิดคนด้วย อิทธิฤทธิ์ของไซเบอร์ และโซเชียลมีเดียในเชิงของการเข้าถึงผู้คนนั้นเยอะมาก เลยกลายเป็นโอกาสในการละเมิดผู้อื่นที่รุนแรง โดยที่คนละเมิดไม่รู้ตัว
"เพราะตอนที่เราอัดคลิปของเราคนเดียว ตอนนั่งจิ้มๆ ในโซเชียลมีเดีย เหมือนเราเขียนอยู่คนเดียว แต่หลังจากนั้นถูกส่งต่อไปได้อีกเป็นแสนเป็นล้านครั้ง ซึ่งก็คือสิ่งเลวร้ายที่กลับมาพันตัวเรา เหมือนถูกสังคมเป็นแสนเป็นล้านคนจับจ้องมองในทิศทางที่เป็นอันตรายเป็นปัญหาได้ ต้องเตือนใจทุกคนให้ระมัดระวัง โลกไซเบอร์ไม่ใช่ทีเล่นๆ เลย ถ้าไม่มีสติ และไม่นิ่งพอ หรือไม่รอบคอบพอ ก็ไม่ควรสุ่มเสี่ยงทำให้ตัวเองเป็นผู้บูลลีคนอื่นหรือในที่สุดอาจกลับมาถูกบูลลี รวมถึงเป็นปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ได้ง่ายดาย" พญ.อัมพรกล่าว