xs
xsm
sm
md
lg

เตียงรักษา “โควิด” หลังสงกรานต์ยังมีพอรองรับ แต่ยังต้องจับตาแนวโน้มช่วงสิ้นเดือนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ เผย เตียงรักษา โควิด” ยังเพียงพอ หลังผ่านสงกรานต์ 1 สัปดาห์ พบใช้เตียงระดับ 1 ลดลง ส่วนระดับ 2 และ 3 ยังทรงตัว ด้านอีสานใช้เตียงมาก แต่ยังเพิ่มเตียงได้ ส่วนเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่ม 2 เท่า แต่อัตราตายไม่สูง ย้ำป่วยหนักและเสียชีวิตตามหลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์ ต้องดูแนวโน้มช่วงสิ้นเดือน ส่วนไกด์ไลน์รักษาโควิดแบ่ง 4 กลุ่มอาการ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงโควิดหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์ พบว่า ภาพรวมการเข้ารักษาตัวลดลงชัดเจน ทั้งเตียงระดับ 1 และการรักษาตัวในศูนย์พักคอย (CI) แต่เตียงระดับ 2 และ 3 ยังทรงตัว มีเฉพาะเตียงระดับ 2.1 ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตและเตียงระดับ 3 มีการทรงตัว เนื่องจากผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ กว่าจะมีอาการข้อมูลจะดีเลย์ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นหลักการตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่ายอดผู้ติดเชื้อสูง คนใส่ท่อช่วยหายใจจะสูงตามทันที ต้องรอเวลาตามมาประมาณ 1-2 สัปดาห์

“จำนวนการใช้เตียงพบในอีสานมาก แต่ยังบริหารจัดการได้ เช่น อุดรธานี เมื่อคนไข้เพิ่มก็ขยายเตียงที่ไม่ใช่โควิดเข้ามา ไม่มีปัญหาอะไร ภาพรวมอัตราครองเตียงทั้งประเทศ 30% ยืนยันว่า เตียงทุกระดับเพียงพอรองรับผู้ป่วย ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่หมอไม่แน่ใจ มีอาการโรคของตัวเองพอสมควรก็ขอให้แอดมิท ทั้งนี้ กทม.และปริมณฑลตัวเลขคงตัว มีแนวโน้มลดลง อาจเพราะใน กทม.มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นสูง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว


นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการติดเชื้อในเด็กเทียบ เม.ย. 2564 และ ม.ค. 2565 พบเพิ่ม 2 เท่า แต่อัตราความรุนแรงและอัตราเสียชีวิตไม่ได้สูงมาก โดย เม.ย. 2564 เสียชีวิตอยู่ที่ 0.018% ขณะที่ ม.ค. 2565 อยู่ที่ 0.017% โดยมากกว่า 50% เป็นการเสียชีวิตในเด็กน้อยกว่า 5 ปี และทั้งสองระลอกพบเด็กเล็กทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วมประมาณ 32.7% ทั้งนี้ ปัจจัยฉีดวัคซีนค่อนข้างสำคัญ เพราะข้อมูลไม่ได้ฉีดวัคซีนในเด็กเสียชีวิตมีถึง 95% ส่วนอัตราครองเตียงเด็กอยู่ที่ 46% มีเพียงพอ จำนวนกุมารแพทย์กระจายทั้งประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชนกว่า 1,900 คน

“อันนี้คือตัวเลขการประเมินหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ แต่ต้องรอดูผลกระทบจริงอีก 1 สัปดาห์ ถ้าจะให้ดีต้องรอก่อนสิ้นเดือน เม.ย. ซึ่งตัวเลขเรื่องเสียชีวิตจริงๆ ในต่างจังหวัดยังทรงตัวอยู่ แต่ใน กทม. ช่วงสงกรานต์ลดลง เพราะคนออกไปข้างนอก ซึ่งออกไปอาจเอาเชื้อออกไปหรือไม่ ไม่รู้ ต้องรอการประเมินก่อนสิ้นเดือนนี้อีกครั้ง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว


นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ (CPG) กรมการแพทย์จะมี 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ 2. กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์เร็วที่สุด 3. กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอกัเสบแต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ตัวใดตัวหนึ่งตาม CPG ของกรมการแพทย์ ได้แก่ ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด โดยประเมินจากประวัติวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 4. กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน หรือพิจารณาให้เรมดิซิเวียร์เร็วที่สุด ในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก มีแนวทาง 1. ให้ฟาวิพิราเวียร์ชนิดเม็ดหรือน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง และ 2. เรมดิซิเวียร์ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง ส่วนหญิงตั้งครรภ์มีแนวทางให้เรมดิซิเวียร์ และอาจให้ฟาวิพิราเวียร์ในไตรมาส 2-3 เป็นกรณี

ส่วนกรณีสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเรียกเก็บค่ายาฟาวิพิราเวียร์ เฉลี่ยเม็ดละ 50 บาท ยืนยันว่าค่ายารักษาผู้ป่วยโควิดทุกรายการเราไม่มีการเรียกเก็บ ดังนั้น ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อดำเนินการเอาผิด ทั้งนี้ ย้ำว่า การจ่ายยาเป็นเรื่องของดุลยพินิจของแพทย์ ไม่มีอาการไม่ต้องรับยา ส่วนกรณีที่มีคนซื้อหายาเองผ่านช่องทางออนไลน์ขอให้ระมัดระวัง เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นยาของจริง หมดอายุ หรือไม่ จึงไม่ควรซื้อยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือบรรเทาอาการป่วยโควิดในออนไลน์เด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น